นายวิชัย โภชนกิจ รองปลัดกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยถึงความคืบหน้าการรับสมัครร้านค้าปลีกดั้งเดิม (โชห่วย) เพื่อเข้าร่วมโครงการร้านธงฟ้าประชารัฐ จำหน่ายสินค้าธงฟ้าราคาถูกกว่าท้องตลาด 15-20% ให้กับผู้มีรายได้น้อย และผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐเพื่อช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อยว่า ตั้งแต่วันที่ 3-6 ก.ย.60 มีร้านค้าทั่วประเทศเข้าร่วมโครงการแล้ว 4,506 แห่ง โดยจังหวัดที่มีร้านค้าเข้าร่วมโครงการจำนวนมาก ได้แก่ อุดรธานี 315 แห่ง, อุบลราชธานี 155 แห่ง, ลำพูน 149 แห่ง, พิษณุโลก 123 แห่ง, ร้อยเอ็ด 112 แห่ง, บุรีรัมย์ 110 แห่ง, สุโขทัย 108 แห่ง, สุรินทร์ 107 แห่ง, นครสวรรค์ 103 แห่ง และสกลนคร 103 แห่ง
"จังหวัดอื่นได้ทยอยรายงานความคืบหน้าเข้ามา คาดว่าเมื่อถึงกำหนดวันจำหน่ายสินค้าภายใต้ร้านธงฟ้าประชารัฐในวันที่ 1 ต.ค.60 จะมีร้านค้าเข้าร่วมโครงการตามเป้าหมายอย่างน้อยตำบลละ 1 ร้านค้า ตั้งเป้าให้ร้านค้ากระจายทั่วถึงไม่ต่ำกว่า 20,000 ร้านค้าทั่วประเทศ" นายวิชัย กล่าว
ทั้งนี้ การผลักดันให้ร้านค้าปลีกเข้าร่วมโครงการร้านธงฟ้าประชารัฐเป็นไปตามนโยบายของนายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รมช.พาณิชย์ ซึ่งได้รับมอบหมายให้เป็นผู้ผลักดันโครงการในส่วนของกระทรวงพาณิชย์จากรัฐบาล โดยได้สั่งการให้พาณิชย์จังหวัด และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องระดมกำลังเจ้าหน้าที่ในสังกัดดำเนินการ เพื่อรองรับนโยบายดังกล่าวให้ทันตามกำหนด
นายวิชัย กล่าวว่า หลังจากนี้จะจัดทีมเจ้าหน้าที่ออกพบปะเชิญชวนร้านค้าปลีกรายย่อยในเครือข่ายร้านค้าชุมชน ร้านค้าสหกรณ์ กองทุนหมู่บ้าน วิสาหกิจชุมชน การเคหะ ฯลฯ อย่างต่อเนื่อง เพื่อผลักดันให้เข้าร่วมโครงการร้านธงฟ้าประชารัฐ โดยร้านค้าที่เข้าร่วมโครงการจะได้รับการติดตั้งเครื่องรูดบัตรฟรี (EDC) สำหรับการซื้อขายสินค้าให้ชำระเงินผ่านบัตรสวัสดิการแห่งรัฐที่ราชการออกให้ ซึ่งรัฐบาลจะชำระเงินค่าสินค้าแทนผู้ถือบัตรให้แก่ร้านค้าเป็นรายวัน และจะโอนเงินเข้าบัญชีภายใน 3 วัน คาดว่าเมื่อมีการดำเนินการเต็มรูปแบบแล้ว ร้านค้าธงฟ้าประชารัฐจะสามารถให้บริการผู้ถือบัตรได้อย่างทั่วถึงและครบถ้วน โดยคาดจะมีการใช้เงินผ่านบัตรเดือนละ 3,200 ล้านบาท หรือรวมทั้งปีไม่ต่ำกว่า 38,000 ล้านบาท
ส่วนผู้ผลิตสินค้าที่จำเป็นต่อการครองชีพ วัตถุดิบในการผลิตสินค้าเกษตร และอุปกรณ์ด้านการศึกษาที่สนใจเข้าร่วมในโครงการนี้ สามารถยื่นความจำนงได้ที่สำนักจัดระบบราคาและปริมาณสินค้า กรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์ เพื่อเพิ่มจำนวนชนิดสินค้าที่นำมาจำหน่ายให้กับผู้ถือบัตรฯ จากโดยทั่วไปจะจำหน่ายเฉพาะสินค้าอุปโภคบริโภคที่จำเป็นต่อการครองชีพเท่านั้น