คมนาคม เผยยอดผู้โดยสารรถไฟฟ้า MRT สายสีม่วงเพิ่มขึ้น 47.18%หลังเปิดเดินรถเชื่อมต่อ 1 สถานีเตาปูน-บางซื่อ

ข่าวเศรษฐกิจ Friday September 8, 2017 10:30 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายจิรุตม์ วิศาลจิตร ผู้ตรวจราชการกระทรวงคมนาคม และโฆษกกระทรวงฯ กล่าวว่า การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) กระทรวงคมนาคม ได้ดำเนินโครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน ส่วนต่อขยาย ช่วงเตาปูน - บางซื่อ จำนวน 1 สถานี ระยะทาง 1.2 กิโลเมตร เพื่อเชื่อมต่อระหว่างสถานีเตาปูนของรถไฟฟ้ามหานคร สายฉลองรัชธรรม (สายสีม่วง) และสถานีบางซื่อของรถไฟฟ้า สายเฉลิมรัชมงคล (สายสีน้ำเงิน) ซึ่งผู้โดยสารสามารถเดินทางได้อย่างต่อเนื่องระหว่างรถไฟฟ้าสายสีม่วงและสายสีน้ำเงิน โดยเปลี่ยนขบวนรถที่สถานีเตาปูน

ภายหลังการเปิดเดินรถไฟฟ้าช่วงเชื่อมต่อระหว่างสถานีเตาปูนและสถานีบางซื่อ ส่งผลให้จำนวนผู้โดยสารของรถไฟฟ้า MRT สายสีม่วง มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยตั้งแต่วันที่ 11 - 31 สิงหาคม 2560 ปรากฏว่า จำนวนผู้โดยสารวันธรรมดาหลังการเชื่อมต่อ เพิ่มขึ้นสูงถึง 47.18% จากเฉลี่ย 33,130 คนต่อวัน เป็น 48,760 คนต่อวัน และจากข้อมูลล่าสุด ณ วันที่ 6 กันยายน 2560 ปรากฏว่า มีจำนวนผู้โดยสารถึง 59,431 คนต่อวัน สูงสุดนับตั้งแต่รถไฟฟ้า MRT สายสีม่วง เริ่มเปิดให้บริการเมื่อวันที่ 6 สิงหาคม 2559 เป็นต้นมา

นอกจากนั้น รฟม. ได้ขยายระยะเวลาโปรโมชั่นค่าโดยสารของรถไฟฟ้า MRT สายสีม่วง ในราคา 14-29 บาท สำหรับวันธรรมดา (เฉพาะผู้ถือบัตร MRT และ MRT Plus) และ 15 บาทตลอดสาย ในวันหยุด ออกไปจนถึงสิ้นปี 2560 และมีโปรโมชั่นลดอัตราค่าจอดรถ 50 % จากอัตราค่าจอดรถปกติ โดยคิดค่าบริการ 2 ชั่วโมง 5 บาท สำหรับผู้ใช้บริการรถไฟฟ้า MRT สายสีม่วง และชั่วโมงละ 10 บาท สำหรับผู้ไม่ใช้บริการรถไฟฟ้า และเดือนละ 500 บาท สำหรับผู้ใช้บริการจอดรถรายเดือน เพื่อส่งเสริมให้ประชาชนเปลี่ยนพฤติกรรมมาเดินทางด้วยรถไฟฟ้ามากขึ้น ทั้งนี้ อาคารจอดรถของรถไฟฟ้า MRT สายสีม่วง มีให้บริการ 4 แห่ง ได้แก่ สถานีคลองบางไผ่ สถานีสามแยกบางใหญ่ สถานีบางรักน้อยท่าอิฐ และสถานีแยกนนทบุรี 1 ตั้งแต่เวลา 05.00 - 01.00 น.

นายจิรุตม์ กล่าวเพิ่มเติมว่า รฟม. ได้สั่งการให้ บมจ. ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ (BEM) จัดทำมาตรการรองรับการเพิ่มขึ้นของจำนวนผู้โดยสารที่เข้ามาในระบบรถไฟฟ้า MRT สายสีน้ำเงิน โดยเฉพาะในชั่วโมงเร่งด่วน อาทิ การปรับตารางการเดินรถและบริหารจัดการเดินรถให้เหมาะสมกับความหนาแน่นของผู้โดยสาร การจัดขบวนรถให้บริการสูงสุด 19 ขบวน ปรับเปลี่ยนตารางการซ่อมบำรุงรถไฟฟ้า โดยจะไม่ซ่อมบำรุงในช่วงเวลาเร่งด่วน เพื่อให้มีรถไฟฟ้าบริการได้ครบทุกขบวน และจะนำรถไฟฟ้าซ่อมบำรุงนอกเวลาเร่งด่วนแทน เป็นต้น ทั้งนี้ BEM ได้จัดซื้อรถไฟฟ้าเพิ่มแล้ว จำนวน 35 ขบวน ซึ่งอยู่ระหว่างกระบวนการผลิต โดยรถไฟฟ้าขบวนใหม่จะสามารถให้บริการได้ในปี 2562


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ