กสทช.ส่อปรับแผนนำคลื่น 900 และ 1800 ออกประมูลก่อน เล็งเคาะราคาประมูลในม.ค.ปีหน้า-หวังรับทรัพย์ 1.55 แสนลบ.

ข่าวเศรษฐกิจ Sunday September 10, 2017 11:17 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการ คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) กล่าวว่า กสทช.มีแนวคิดที่จะนำคลื่นความถี่ย่าน 900 และ 1800 เมกกะเฮิรตซ์ มาประมูลก่อน คลื่นย่าน 2600 เมกกะเฮิรตซ์ของบริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) ทั้งนี้เพราะเห็นว่าการประมูลคลื่น 900 และ 1800 เมกกะเฮิรตซ์ น่าจะทำได้รวดเร็วมากกว่า เนื่องจากเป็นการประมูลล่วงหน้าก่อนที่สิ้นสุดสัญญาสัมปทาน โดยคลื่นความถี่ย่าน 1800 เมกกะเฮิรตซ์ อยู่ภายใต้สัญญาสัมปทานระหว่าง บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) กับบริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือดีแทค ที่ใช้งานอยู่จำนวน 45 เมกกะเฮิรตซ์ จะสิ้นสุดสัญญาในวันที่ 30 กันยายน 2561 และคลื่นความถี่ย่าน 850 เมกกะเฮิรตซ์ (ซึ่งอยู่ในย่าน 900 เมกกะเฮิรตซ์)จำนวน 10 เมกกะเฮิรตซ์ บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ใช้งานอยู่ เดิมกสทช.มีแนวคิดที่จะทำคลื่นทั้งสองย่ายมาประมูลล่วงหน้าอยู่แล้ว

อย่างไรก็ดี กสทช.จะเริ่มต้นกระบวนการนำคลื่นทั้ง 3 ย่านมาประมูลพร้อมกันในเดือนตุลาคม โดยจะเริ่มจัดทำร่างหลักเกณฑ์และวิธีการอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่สำหรับกิจการโทรคมนาคม ของคลื่น 900 และ 1800 เมกกะเฮิรตซ์ ก่อน ขณะที่จะเริ่มดำเนินการประเมินมูลค่าและจัดทำหลักเกณฑ์ในการเยียวยาการขอคืนคลื่น 2600 เมกกะเฮิรตซ์จากบริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) ไปพร้อมกัน กสทช. คาดว่าการขอคืนคลื่น 2600 เมกกะเฮิรตซ์ อาจจะต้องใช้เวลาในการเจรจาหาข้อยุติเกี่ยวกับมูลค่าคลื่นและกรอบวงเงินเยียวยา หากนำคลื่น 2600 เมกกะเฮิรตซ์ มาประมูลก่อนอาจทำให้การประมูลล่าช้าไม่ทันกับความต้องการของผู้ให้บริการโทรศัพท์มือถือ

กสทช.คาดว่าจะสามารถร่างหลักเกณฑ์และวิธีการอนุญาตให้ใช้คลื่นฯ 900 และ 1800 เมกกะเฮิรตซ์ เสร็จสิ้นเพื่อไปรับฟังความคิดเห็นได้ภายในเดือนพฤศจิกายน เพื่อเข้าสู่กระบวนการชี้แจงและเชิญผู้สนใจเข้าประมูล โดยการเคาะราคาน่าจะเกิดขึ้นในเดือนมกราคม 2561 จากนั้นจะเปิดโอกาสให้ทำการโอนย้ายลูกค้า ก่อนที่จะมีการชำระค่าธรรมเนียมใบอนุญษตและส่งมอบคลื่นประมาณเดือนมีนาคม

สำหรับคลื่น 2600 เมกกะเฮิรตซ์ คาดว่าจะเริ่มกระบวนการประมูลได้จริงประมาณกลางปี 2561 ซึ่งหากเรื่องมูลค่าคลื่นและการเยียวยาตกลงกันได้ก่อนก็สามารถนำมาประมูลต่อจากคลื่น 900 และ 1800 เมกกะเฮิรตซ์ ได้เลย กสทช.ประเมินว่าจะมีใบอนุญาตที่เปิดประมูลของคลื่น 900 และ 1800 เมกกะเฮิรตซ์ จำนวน 4 ใบ และน่าจะทำรายได้อย่างน้อย 155,000 ล้านบาท " นายฐากร กล่าว

หลังการประมูลคลื่นความถี่เสร็จสิ้น กสทช.จะต้องนำรายได้จากการประมูลคลื่น ร้อยละ 20 ส่งเข้ากองทุนพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ส่วนที่เหลือจะส่งให้กระทรวงการคลังเพื่อเป็นเงินของแผ่นดิน


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ