นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) คาดว่า ในเดือน ต.ค.ปีนี้จะเริ่มเปิดให้ใช้ระบบสแกนลายนิ้วมือ (Fringer Print) ในการลงทะเบียนซิมใหม่ และหมายเลขปัจจุบันก็สามารถเพิ่มระบบสแกนนิ้วมือได้ เพื่อยกระดับมาตรฐานความปลอดภัยในการทำธุรกรรมทางการเงิน ซึ่งปัจจุบันมีโทรศัพท์มือถือที่ใช้บัญชีพร้อมเพย์แล้ว 20 ล้านเลขหมาย
ปัจจุบันระบบสแกนนิ้วมือใช้ในการลงทุนทะเบียนซิมเติมเงินไปเพียง 1 หมื่นกว่าเลขหมายเท่านั้น เพราะมีจำนวนทีใช้สแกนลายนิ้วมือยังน้อยอยู่ประมาณ 25 เครื่อง โดยจะต้องมีการติดตั้งเพิ่มเติมไมน้อยกว่า 300-400 เครื่อง ในการลงทะเบียนซิมเติมเงิน ทั้งนี้เพื่อความมั่นคงปลอดภัย
ในวันนี้สำนักงาน กสทช.จัดประชุมเชิงวิชาการระดับนานาชาติ 2017 NBTC International Symposium on Digital Financial Inclusion โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้หน่วยงานภาครัฐ และเอกชน รวมทั้งสถาบันการเงิน ผู้แทนประเทศสมาชิกอาเซียน และตัวแทนสถานเอกอัครราชทูตประเทศสมาชิกอาเซียนในประเทศไทยได้รับทราบนโยบายในเรื่องการรวมระบบการเงินในยุคดิจิตอลหรือ (Digital Financial Inclusion) ที่หลากหลายในระดับโลก รวมถึงการพัฒนาการใช้เทคโนโลยีเพื่อช่วยให้การทำธุรกรรมการเงินผ่านโทรศัพท์มือถือให้มีความปลอดภัยและสร้างความมั่นใจให้ผู้ใช้มากขึ้น
ปัจจุบันจำนวนผู้ใช้บริการธนาคารทางอินเทอร์เน็ตเพิ่มจำนวนมากขึ้นถึง 14 ล้านบัญชี และธนาคารบนมือถือมีมากกว่า 19 ล้านบัญชี โดยมีการเติบโตของการทำธุรกรรมการเงินผ่านโทรศัพท์เคลื่อนที่เฉลี่ยสูงถึง 45% และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ อย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ สำนักงาน กสทช. ร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)ให้ความร่วมมือบริการพร้อมเพย์ รวมทั้งร่วมมือกับกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ในการจัดให้มีโทรศัพท์พื้นฐานในพื้นที่ชนบทห่างไกลที่ยังไม่มีการเข้าถึงหรือมีข้อจำกัดในการเข้าถึง เพื่อรองรับการก้าวเข้าสู่ความเป็นสังคมดิจิทัล ซึ่งจะนำไปสู่การทำธุรกรรมทางการเงินด้วยระบบอิเล็กทรอนิกส์
สำหรับการประชุมครั้งนี้มีวิทยากรทั้งจากภายในประเทศและต่างประเทศมาร่วมแลกเปลี่ยนประสบการณ์ประกอบด้วย ผู้อำนวยการภาคมาตรฐานโทรคมนาคม จากสหภาพโทรคมนาคมระหว่างประเทศ (ITU) อาจารย์จากมหาวิทยาลัยมีชื่อเสียงในประเทศสวีเดน ผู้บริหารระดับสูงจากธนาคารแห่งประเทศไทย ผู้บริหารจาก True money, Alipay, VISA และ บริษัท DOCOMO ของประเทศญี่ปุ่น
ทั้งนี้ มีหลายประเทศได้ให้ความสำคัญและใช้งานระบบการชำระเงินอิเล็กทรอนิกส์ในรูปแบบต่างๆ เช่น ประเทศสวีเดนมีการใช้งานบัตรเดบิตเป็นหลักและได้วางเป้าหมายที่จะเลิกใช้เงินสดในปี 2573 ประเทศสิงคโปร์มีการใช้งานบัตรเดบิตและการชำระเงินผ่านมือถือสูงถึง 80% ของการใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน แม้กระทั่งประเทศกำลังพัฒนาอย่างโซมาเลียและเคนย่าก็มีการชำระเงินผ่านมือถือ ทำให้คนที่ไม่มีบัญชีธนาคาร สามารถเข้าถึงบริการทางด้านการเงินได้ ซึ่งมีส่วนช่วยให้ประชาชนสามารถโอนเงินและชำระค่าสินค้าและบริการโดยผ่านโครงข่ายโทรศัพท์มือถือแทนการใช้บริการทางการเงินกับธนาคารโดยตรง
ดังนั้น การรวมระบบการเงินในยุคดิจิทัลจะเป็นการลดช่องว่างและสร้างความเชื่อมั่นให้คนไทยสามารถทำธุรกรรมผ่านการใช้ระบบดิจิทัลได้มากขึ้นและยังสามารถลดระดับความยากจนโดยการสร้างอำนาจให้ประชาชนและสร้างความเจริญเติบโตทางสังคมเป็นสังคมเศรษฐกิจดิจิทัลอย่างเต็มรูปแบบ
Dr.Chaesub Lee Director of Telecommunication Standardization Bureau, ITU กล่าวว่า ปัจจุบันมีการทำธุรกรรมทางการเงินผ่านโทรศัพท์มือถือกันมาก แต่ในโลกนี้มีประชากรราว 2 พันล้านคนที่ไม่มีบัญชีธนาคารมองเป็นเรื่องใหญ่ ขณะนี้ในกลุ่มนี้มีจำนวน 1.6 พันล้านคนมีโทรศัพท์มือถือ จึงเห็นว่าสามารถนำกลุ่มคนเหล่านี้มาใช้สนับสนุนด้านการเงินได้ ทั้งนี้เพื่อให้ทุกคนได้เข้าถึงการใช้บริการด้านการเงินแบบดิจิทัล โดยมีสมาร์ทโฟน และ บรอดแบนด์ที่เข้ามาข่วยสนับสนุนการใช้งานดิจิทัลมากขึ้น
ทั้งนี้ ITU ได้นำร่องจาก 3 ประเทศ ใน 3 ภูมิภาค ได้แก่ จีน อียิปต์ และเม็กซิโก ในการใช้เทคโนโลยีไอซีทีมาใช้บริการทางด้านการเงิน ซึ่งจะมีโอเปอเรเตอร์ และ สถาบันการเงินเข้ามามีส่วนสำคัญ
ด้านนางสาวสิริธิดา พนมวัน ณ อยุธยา ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายระบบการชำระเงินและเทคโนโลยีทางการเงิน ธปท.กล่าวว่า การใช้พร้อมเพย์ ขณะนี้มีผู้ลงทะเบียนใช้แล้วกว่า 32 ล้านราย ซึ่งการโอนเงินวงเงินไม่เกิน 5,000 บาทจะไม่เสียค่าใช้จ่าย การใช้จ่ายผ่านบัตรเดบิต การทำธุรกิจผ่าน e-Commerce ยังมี e-Tax และ e-Payment จะทำให้ทุกกลุ่มเข้าถึงการทำธุรกรรมทางการเงินผ่านระบบดิจิทัล ที่ใช้แทนเงินสด นอกจากนี้ ยังมีการใช้ระบบคิวอาร์โค้ตอยู่จำนวน 2 ล้านบัญชี ทำให้การทำธุรกรรมทางเงินสะดวกขึ้น