นายเมธี สุภาพงษ์ รองผู้ว่าการ ด้านเสถียรภาพเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวถึงนโยบายการเงินและความท้าทายยุคใหม่ ในเวที Media Briefing ว่า การดำเนินนโยบายการเงินภายใต้กรอบ Flexible Inflation Targeting (Flexible IT) ถือว่ามีจุดเด่นที่ช่วยสนับสนุนการรักษาวินัยทางการเงิน เข้าใจง่ายและโปร่งใสกว่ากรอบเป้าหมายอื่นๆ และมีส่วนสร้างความน่าเชื่อถืออันเป็นปัจจัยสำคัญต่อประสิทธิผลของการดำเนินนโยบายการเงิน ซึ่งในกรณีของประเทศไทยนั้น กรอบ Flexible IT ยังมีประสิทธิภาพในการควบคุม ตลอดจนยึดเหนี่ยวการคาดการณ์เงินเฟ้อของสาธารณชน โดย ธปท.เห็นความจำเป็นของการเพิ่มขีดความสามารถของกรอบภายใต้การเปลี่ยนแปลงและความท้าทายต่างๆ เพื่อให้การดำเนินนโยบายการเงินบรรลุวัตถุประสงค์ได้ดียิ่งขึ้น
ทั้งนี้ การตัดสินนโยบายการเงินภายใต้กรอบเป้าหมายเงินเฟ้อแบบยืดหยุ่นนั้น คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ไม่ได้คำนึงถึงเป้าหมายเงินเฟ้อเพียงอย่างเดียว แต่ กนง.ได้ชั่งน้ำหนักระหว่างความเสี่ยงของเงินเฟ้อและการขยายตัวทางเศรษฐกิจ รวมทั้งให้ความสำคัญกับเสถียรภาพระบบการเงิน (financial stability) โดยติดตามความไม่สมดุลที่อาจก่อตัวในระบบเศรษฐกิจ 7 ด้านเป็นประจำ คือ ต่างประเทศ, สถาบันการเงิน, ตลาดการเงิน, การคลัง, ธุรกิจ, ครัวเรือน และอสังหาริมทรัพย์ โดยมองว่านโยบายการเงินของไทยในปัจจุบันยังเป็นระดับที่ผ่อนคลาย และเอื้อต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจ ซึ่งนโยบายการเงินที่อยู่ในระดับผ่อนคลายสะท้อนได้จากอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่แท้จริงติดลบ อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลยังอยู่ในระดับต่ำ ซึ่งได้ช่วยลดต้นทุนการระดมทุนของภาคธุรกิจในตลาดตราสารหนี้ด้วย ทำให้การระดมทุนของภาคธุรกิจยังขยายตัวได้ต่อเนื่องโดยเฉพาะตลาดตราสารหนี้
นายเมธี กล่าวว่า การที่อัตราเงินเฟ้อของไทยต่ำกว่ากรอบเป้าหมายติดต่อกันมา 2 ปีนั้น (กรอบเป้าหมาย 1-4%) มาจากปัจจัยด้นอุปทานเป็นสำคัญ โดยเฉพาะการลดลงของราคาน้ำมันในตลาดโลก ซึ่งมีส่วนสนับสนุนการขยายตัวทางเศรษฐกิจโดยรวมผ่านการลดต้นทุนของภาคธุรกิจและครัวเรือน เนื่องจากไทยเป็นประเทศผู้นำเข้าสุทธิน้ำมันในสัดส่วนที่สูงมาก นอกจากนี้อัตราเงินเฟ้อที่อยู่ในระดับต่ำยังมาจากพลวัตเงินเฟ้อที่เปลี่ยนแปลงไป โดยอัตราเงินเฟ้อของไทยมีความหนืดสูงขึ้น สะท้อนว่าอัตราเงินเฟ้อในอดีตมีผลต่อระดับอัตราเงินเฟ้อในปัจจุบันมากขึ้น ทำให้อัตราเงินเฟ้อใช้เวลามากขึ้นในการกลับเข้าสู่เป้าหมาย ขณะเดียวกันปัจจัยภายนอกก็มีบทบาทต่อพลวัตของอัตราเงินเฟ้อไทยมากขึ้นเช่นกัน
“อัตราเงินเฟ้อของไทยยังอยู่ในระดับต่ำจากปัจจัยด้านอุปทาน รวมทั้งจากปัจจัยเชิงโครงสร้าง และพลวัตเงินเฟ้อที่เปลี่ยนแปลงไป ส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อไม่เร่งตัวเหมือนในอดีต" นายเมธีกล่าว
พร้อมยืนยันว่า เศรษฐกิจไทยไม่ได้อยู่ในภาวะเงินฝืด เพราะเศรษฐกิจไทยยังขยายตัวได้ดีขึ้นและมีแนวโน้มสูงขึ้นในปีนี้ต่อเนื่องจนถึงปีหน้า และแม้เงินเฟ้อจะอยู่ในระดับต่ำแต่ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมาก็ยังทยอยปรับสูงขึ้นตามลำดับ ขณะที่สัดส่วนของจำนวนสินค้าในตะกร้าดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ที่ราคาปรับลดลงยังอยู่ในระดับทรงตัวใกล้เคียงกับอดีต และต่ำกว่าจำนวนสินค้าที่ปรับราคาขึ้น อย่างไรก็ดี อัตราเงินเฟ้อคาดการณ์ในระยะยาว (5 ปี) ยังโน้มลงบ้าง แต่ยังอยู่ใกล้เคียงกับค่ากลางของเป้าหมายเงินเฟ้อที่ระดับ 2.5%
อนึ่ง ในปีนี้ ธปท.คาดการณ์ว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วไปจะอยู่ที่ระดับ 0.8% และอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานอยู่ที่ 0.6% ส่วนในปี 2561 คาดว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วไปจะอยู่ที่ระดับ 1.6% และอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานอยู่ที่ 0.9%
นายเมธี กล่าวว่า อัตราดอกเบี้ยนโยบายในปัจจุบันยังเป็นระดับที่เหมาะสมและผ่อนคลายเพียงพอที่เอื้อต่อการขยายตัวของอุปสงค์ในประเทศ ซึ่งการลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายเพื่อให้อัตราเงินเฟ้อกลับเข้าสู่กรอบเป้าหมายได้เร็วขึ้นจะมีผลจำกัด เนื่องจากอัตราเงินเฟ้อที่ลดลงมาจากปัจจัยด้านอุปทานเป็นหลัก และบางส่วนอาจมาจากปัจจัยเชิงโครงสร้าง ซึ่งการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายอาจเป็นการเพิ่มความเสี่ยงต่อเสถียรภาพระบบการเงิน ภายใต้ภาวะที่อัตราดอกเบี้ยนโยบายอยู่ในระดับต่ำต่อเนื่องจากพฤติกรรม Search for yield ที่นำไปสู่การประเมินความเสี่ยงที่ต่ำเกินควร
“การตัดสินใจนโยบายการเงินในระยะต่อไป จะต้องพิจารณาแวดล้อมทางเศรษฐกิจ และคำนึงถึง tradeoff ระหว่างเป้าหมายต่างๆ อย่างเหมาะสม กรอบเป้าหมายเงินเฟ้อแบบยืดหยุ่นยังมีความเหมาะสมต่อเศรษฐกิจไทย และภายใต้ความท้าทายที่เพิ่มขึ้น ธปท.จะเพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินนโยบายการเงินผ่านการพัฒนาและยกระดับการวิเคราะห์เครื่องมือเชิงนโยบาย และแนวทางการสื่อสารอย่างต่อเนื่อง" นายเมธีระบุ