นางอภิรดี ตันตราภรณ์ รมว.พาณิชย์ เปิดเผยว่า รัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียนทั้ง 10 ประเทศ และผู้ช่วยผู้แทนการค้าสหรัฐฯ (Ms. Barbara Weisel) ได้ประชุมหารือเกี่ยวกับแนวทางพัฒนาความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจระหว่างอาเซียนและสหรัฐฯ เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ณ กรุงมะนิลา ประเทศฟิลิปปินส์ โดยการประชุมรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียน-สหรัฐฯ ในครั้งนี้ สหรัฐฯ ได้แสดงความยินดีในโอกาสครบรอบ 50 ปีของการก่อตั้งประชาคมอาเซียน ซึ่งถือเป็นก้าวสำคัญทางประวัติศาสตร์ในการรวมกลุ่มของภูมิภาคอาเซียน ทั้งนี้ รัฐมนตรีการค้าอาเซียนและสหรัฐฯ ยืนยันถึงความมุ่งมั่นในการเสริมสร้างความร่วมมือทางเศรษฐกิจ ในโอกาสฉลองครบรอบ 40 ปี ความสัมพันธ์ระหว่างอาเซียนกับสหรัฐฯ
นอกจากนี้ ทั้งสองฝ่ายได้รับทราบเกี่ยวกับความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจระหว่างอาเซียนและสหรัฐฯ ที่ยังคงขยายตัวอย่างต่อเนื่อง และรับทราบความคืบหน้าของแผนการดำเนินงานภายใต้กรอบความตกลงด้านการค้าและการลงทุนระหว่างอาเซียนกับสหรัฐฯ ประจำปี 2559-2560 รวมทั้งรับรองแผนการดำเนินงานฯ ประจำปี 2560-2561 โดยสนับสนุนให้ระดับเจ้าหน้าที่ให้ความสำคัญกับการพัฒนาโครงการที่เป็นรูปธรรม เพื่อนำไปสู่การขยายการค้าที่เสรีและเป็นธรรมและเพิ่มการจ้างงานและการเติบโตทางเศรษฐกิจในสหรัฐฯ และอาเซียนต่อไป
นางอภิรดี กล่าวเพิ่มเติมว่า นอกเหนือจากการหารือข้างต้น อาเซียนและสหรัฐฯ ได้รับทราบการเริ่มดำเนินการและความคืบหน้าการดำเนินกิจกรรมภายใต้ข้อริเริ่ม US-ASEAN Connect เมื่อเดือนกันยายน 2559 ผ่านการเชื่อมโยง 4 เรื่อง ได้แก่ 1.ธุรกิจ 2.พลังงาน 3.นวัตกรรม และ 4.นโยบาย โดยข้อริเริ่มดังกล่าวเป็นการส่งเสริมการเชื่อมโยงระหว่างสหรัฐฯ กับอาเซียน ผ่านการเข้าถึงข้อมูลความรู้ ผู้เชี่ยวชาญ บุคลากรของรัฐบาลสหรัฐฯ และภาคเอกชน ซึ่งจะเน้นการดำเนินกิจกรรมภายใต้หัวข้อ "เศรษฐกิจดิจิทัล" ในปี 2560
ในโอกาสนี้ สภาธุรกิจสหรัฐฯ และอาเซียน (USABC) ได้นำเสนอต่อที่ประชุมฯ เกี่ยวกับการจัดทำ White Paper ข้อเสนอแนะแนวทางสนับสนุนการรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจของอาเซียนให้มีประสิทธิภาพในระยะยาว หรือที่เรียกว่า RICH ซึ่งประกอบด้วย Recognize-Implement- Consult-Harmonize
ส่วนการประชุม ASEAN+3 (จีน ญี่ปุ่น เกาหลี) นั้น รมว.พาณิชย์ กล่าวว่า รัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียนได้รับทราบการดำเนินโครงการต่างๆ รวมถึงแนวทางความร่วมมือระหว่าง ASEAN+3 ในอนาคต อาทิ 1. ความร่วมมือระหว่างศูนย์อาเซียน-จีน ศูนย์อาเซียน-ญี่ปุ่น และศูนย์อาเซียน-เกาหลีใต้ ในการส่งเสริมและขยายการค้าระหว่างจีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และอาเซียน รวมถึงอำนวยความสะดวกทางการค้าของ MSMEs ในภูมิภาค 2. การศึกษาการเชื่อมโยงข้อมูลระบบศุลกากรอิเล็กทรอนิกส์ ณ จุดเดียว (Single Window) สำหรับ ASEAN+3 และ 3. การวิจัยร่วมด้านความเชื่อมโยงของห่วงโซ่อุปทานระหว่าง ASEAN+3 เป็นต้น ทั้งนี้ คาดว่าจะสามารถรายงานผลและเสนอผู้นำ ASEAN+3 ให้ความเห็นชอบร่วมกันได้ในเดือนพฤศจิกายนนี้
นอกจากนี้ รัฐมนตรีเศรษฐกิจ ASEAN+3 ได้รับทราบและหารือเกี่ยวกับข้อเสนอแนะจากสภาธุรกิจเอเชียตะวันออก (East Asia Business Council: EABC) ซึ่งมุ่งเน้นการพัฒนาพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ (E-Commerce) การส่งเสริมศักยภาพของ MSMEs และการมีส่วนร่วมในการจัดทำข้อเสนอแนะต่อการเจรจาจัดทำความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (Regional Comprehensive Economic Partnership: RCEP) โดยที่ผ่านมา มีการทำแบบสอบถามเกี่ยวกับการใช้ E-Commerce และพบว่ายังคงมีปัญหาเกี่ยวกับการขาดความเชื่อมั่นในการทำธุรกรรมและการชำระเงินระหว่างประเทศ จึงควรมีการเตรียมความพร้อมด้านกฎระเบียบการค้าข้ามพรมแดน พิธีการศุลกากร การรักษาความปลอดภัยของข้อมูล และระบบการชำระเงิน เป็นต้น ในการนี้ EABC ได้แจ้งประสงค์ที่จะเข้าร่วมการประชุมผู้นำ ASEAN+3 และนำเสนอประเด็นต่างๆ ด้วย
สำหรับการประชุมระดับรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียน-ออสเตรเลีย-นิวซีแลนด์ ที่ประชุมได้สนับสนุนการดำเนินการตามพิธีสารฉบับที่ 1 เพื่อแก้ไขความตกลงจัดตั้งเขตการค้าเสรีอาเซียน-ออสเตรเลีย-นิวซีแลนด์ (AANZFTA) โดยประเทศภาคีส่วนใหญ่ได้ให้สัตยาบันแล้ว ยกเว้นอินโดนีเซียที่ยังอยู่ในขั้นตอนขอความเห็นชอบจากรัฐสภา โดยคาดว่าจะสามารถดำเนินกระบวนการให้สัตยาบันได้แล้วเสร็จภายในสิ้นปีนี้
นางอภิรดี กล่าวว่า ที่ประชุมได้รับทราบรายงานการทบทวนมาตรการที่มิใช่ภาษี (NTMs review) เพื่อส่งเสริมให้ภาคธุรกิจสามารถใช้ประโยชน์จากความตกลงฯ โดยเฉพาะธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม และเพื่อให้เกิดการดำเนินการด้านกฎระเบียบที่เกี่ยวข้องได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งนี้ อาเซียนได้กล่าวชื่นชมออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ที่มีการต่ออายุให้เงินสนับสนุนโครงการความร่วมมือทางเศรษฐกิจภายใต้กรอบความตกลงฯ (AANZFTA Economic Cooperation Support Programme : AECSP) จนถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2562 โดยได้มอบหมายให้ระดับเจ้าหน้าที่ไปดำเนินการต่อไปในด้านแลกเปลี่ยนความเห็นเกี่ยวกับการออกแบบโครงการใหม่ที่จะมาแทนที่โครงการดังกล่าวหลังปี 2562
ซึ่งที่ผ่านมา ไทยได้ประโยชน์จากโครงการต่างๆ อาทิ โครงการความร่วมมือด้านกฎระเบียบมาตรการสุขอนามัยและสุขอนามัยพืชสำหรับสินค้านมและผลิตภัณฑ์นม โครงการฝึกอบรมระดับเจ้าหน้าที่เรื่องกฎถิ่นกำเนิดสินค้า โครงการฝึกอบรมด้านกฎหมายการแข่งขันทางการค้าให้กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และโครงการฝึกอบรมด้านกฎระเบียบทรัพย์สินทางปัญญา เป็นต้น
นอกจากนี้ รัฐมนตรีได้รับทราบความคืบหน้ารายงานการทบทวนทั่วไประยะที่ 1 ซึ่งมุ่งเน้นการประเมินผลการดำเนินงานที่ผ่านมาตามข้อตกลงฉบับนี้ ทั้งนี้ ความตกลง AANZFTA จะมีการทบทวนในระยะที่ 2 ซึ่งจะเริ่มในปี 2561 เพื่อให้ความตกลงดังกล่าวมีความทันสมัย มีความครอบคลุม และมีประสิทธิภาพสูง ตลอดจนสอดคล้องกับการเจรจาความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (Regional Comprehensive Economic Partnership : RCEP) ต่อไป