ศูนย์วิจัยกสิกรไทย เปิดเผยว่า ภาวะการครองชีพของครัวเรือนในเดือนส.ค. ปรับตัวดีขึ้นเล็กน้อยจากเดือนก่อนหน้า สะท้อนจากดัชนีภาวะเศรษฐกิจของครัวเรือน (KR-ECI) ที่เพิ่มขึ้นจากระดับ 45.5 ในเดือนก.ค. มาอยู่ที่ระดับ 45.7 ในเดือนส.ค. 2560 ตามลำดับ
ปัจจัยที่ทำให้ภาวะการดำรงชีพของครัวเรือนในปัจจุบันปรับตัวดีขึ้นเล็กน้อย คือ ราคาอาหารสดถูกลง สอดคล้องกับตัวเลขดัชนีราคาสินค้าผู้บริโภคในหมวดอาหารสดที่ในเดือนส.ค. ปรับตัวลดลงจากเดือนก่อนหน้า 0.76% จากราคาผักและผลไม้ที่ถูกลงตามปริมาณผลผลิตฤดูกาลที่ออกสู่ตลาดจำนวนมาก,
ครัวเรือนบางส่วนมีภาระการชำระหนี้บัตรเครดิตลดลงในเดือนส.ค. จากการใช้จ่ายที่น้อยลงในเดือนก่อนหน้า สอดคล้องกับตัวเลขการใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตในประเทศของบัตรที่ออกโดยบริษัทประกอบธุรกิจบัตรเครดิตที่ไม่ใช่สถาบันการเงินในประเทศที่ในเดือนก.ค. ขยายตัวในอัตราที่ชะลอลงมาอยู่ที่ 3.9% MoM เมื่อเทียบกับเดือนมิ.ย. ที่ขยายตัวสูงถึง 22.6% MoM,
ครัวเรือนที่เป็นลูกจ้างมีมุมมองที่ดีขึ้นต่อภาวะการมีงานทำของตนเอง สอดคล้องกับจำนวนผู้มีงานทำในกรุงเทพฯ ประจำเดือนส.ค. 2560 ที่เพิ่มขึ้น 126,600 ตำแหน่งจากเดือนก.ค. โดยอุตสาหกรรมที่มีจำนวนผู้มีงานทำเพิ่มขึ้นได้แก่ ภาคการผลิต ภาคการค้า (ขายส่ง/ขายปลีก) รวมไปถึงธุรกิจที่พักแรมและบริการด้านร้านอาหาร
"สำหรับสถานการณ์ในเดือนถัดไป ยังต้องติดตามทิศทางราคาสินค้าที่มีการขยับขึ้นบางรายการ รวมถึงมาตรการเศรษฐกิจของภาครัฐที่อาจจะออกมาเพิ่มเติม" ศูนย์วิจัยฯ ระบุ
ขณะที่ครัวเรือนในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑลมองภาวะการครองชีพอีก 3 เดือนข้างหน้าดีขึ้น สะท้อนจากดัชนีสะท้อนมุมมองคาดการณ์ในช่วง 3 เดือนข้างหน้า (3-month Expected KR-ECI) ปรับตัวดีขึ้นจากระดับ 45.8 ในเดือนก.ค. มาอยู่ที่ระดับ 46.2 ในเดือนส.ค. โดยมุมมองของครัวเรือนที่ดีขึ้นมาจากประเด็นเรื่องค่าใช้จ่ายที่ในช่วง 3 เดือนข้างหน้าอาจจะมีรายการพิเศษไม่มาก โดยเฉพาะไม่มีวันหยุดยาว นอกจากนี้ ครัวเรือนยังมีมุมมองที่ดีขึ้นต่อประเด็นเรื่องการชำระหนี้ในอนาคต ส่วนหนึ่งเป็นเพราะครัวเรือนบางส่วนเริ่มมีความระมัดระวังเรื่องการก่อหนี้มากขึ้น โดยเฉพาะหนี้บัตรเครดิต ตลอดจน มาตรการดูแลสินเชื่อบัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคลภายใต้การกำกับ ที่จะเริ่มมีการบังคับใช้ตั้งแต่ 1 ก.ย. 2560 น่าจะมีส่วนช่วยให้ครัวเรือนก่อหนี้ได้เหมาะสมกับความสามารถในการชำระหนี้ของตนเองมากยิ่งขึ้น
อย่างไรก็ตาม เนื่องด้วยช่วงระยะเวลาที่ทำการสำรวจเป็นช่วงก่อนที่จะมีการประกาศขึ้นราคาสินค้าหลายรายการของหน่วยงาน/องค์กร ครัวเรือนจึงไม่ได้ให้น้ำหนักกับการปรับเพิ่มราคาสินค้าหลายรายการ ไม่ว่าจะเป็น (1) ค่าโดยสารรถไฟฟ้า BTS ที่ปรับขึ้น 1-3 บาทต่อรอบการเดินทางตั้งแต่ 1 ต.ค. 2560 เป็นต้นไป (2) ราคาก๊าซหุงต้มที่ปรับขึ้นจาก 20.49 บาท/กก. มาเป็น 21.15 บาท/กก. (ราคาเพิ่มขึ้น 10 บาทต่อถัง 15 กก.) ตั้งแต่ 6 ก.ย. 2560 เป็นต้นไป รวมไปถึง (3) ราคาก๊าซเอ็นจีวีที่จะปรับขึ้นจาก 13.19 บาท/กก. มาเป็น 13.70 บาท/กก. โดยจะมีผลตั้งแต่ 16 ก.ย. 2560 เป็นต้นไป ซึ่งอาจมีผลในเชิงลบต่อมุมมองของครัวเรือนต่อสถานการณ์ทางด้านราคาสินค้าในอีก 3 เดือนข้างหน้าในการสำรวจรอบเดือนถัดไป