นายสมชัย สัจจพงศ์ ปลัดกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า กระทรวงฯ เตรียมเสนอแพ็คเกจส่งเสริมการออมแห่งชาติต่อ รมว.คลัง ภายในเดือน ก.ย.นี้ เพื่อดูแลการออมในทุกระดับ โดยมีข้อเสนอ 4 ด้าน ได้แก่ 1.การยกระดับของการให้ความรู้ทางด้านการเงินกับประชาชนทุกระดับเป็นวาระแห่งชาติ ซึ่งจัดทำแผนส่งเสริมความรู้ทางการเงินแห่งชาติ โดยให้กระทรวงการคลังเป็นผู้รับผิดชอบหลัก โดยร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง สถาบันการเงิน และภาคเอกชน เนื่องจากการให้ความรู้แต่ละกลุ่มจะมีความแตกต่างกัน ได้แก่ กลุ่มคน Gen-Y, กลุ่มคน Gen-Z, กลุ่มคนที่ทำงาน, กลุ่มคนฐานราก, กลุ่มคนโสด, กลุ่มคนที่สมรสแล้ว, กลุ่มคนตกงาน, กลุ่มคนชรา และกลุ่มเกษตรกร
"เรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญ เราต้องการให้ประชาชนให้เกิดการมีวินัยการออม วินัยการใช้จ่าย วินัยการลงทุน อยากให้ฝังเป็น DNA เป็นคนอดออม ประหยัด และแผนการออม การให้ความรู้จะถูกออกแบบให้สอดรับกับทุกระดับ...เมื่อแผนส่งเสริมความรู้ทางการเงินให้เป็นวาระแห่งชาติให้กับรัฐมนตรีการคลัง โดย สศค.เริ่มประชุมการจัดทำแผนแล้ว ไม่ได้เริ่มจากศูนย์ " นายสมชัย กล่าว
2.เสริมความแข็งแกร่งให้กับสถาบันการออมมากขึ้น โดยเน้นสถาบันการออมที่เป็นเสาหลักของประชาชนฐานรากคือสหกรณ์ ซึ่งที่ผ่านมาได้ทำงานร่วมกับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เสริมความแข็งแกร่งผ่านสหกรณ์ออมทรัพย์เครดิตยูเนี่ยน ล่าสุดได้วางแนวทางกำกับดูแลกับกระทรวงเกษตรฯ โดยมีแนวทางกำกับให้เข้มงวดมากขึ้น และได้ปรึกษากับกระทรวงเกษตรฯ ในการเสริมความแข็งแกร่งของระบบสหกรณ์ของประเทศ และกำลังศึกษาแนวทางการจัดตั้งสถาบันการออมของประเทศเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของสถาบันการเงินชุมชนทั้งหลาย เช่น กลุ่มออมทรัพย์ขนาดเล็กในชุมชนทำหน้าที่คล้ายหน่วยงานพัฒนา เพื่อเติบโตไปได้
3.ออกผลิตภัณฑ์การออมใหม่ๆ และการเสริมมาตรการต่างๆ ให้ประชาชนลดใช้สินค้าฟุ่มเฟือย โดยสถาบันการเงินของรัฐ และสถาบันการเงินเอกชน บริษัทประกันชีวิตจะออกผลิตภัณฑ์การออมที่ให้มีการออมระยะยาว มีดอกเบี้ยสูง และมีประกัน จะทำให้ประเทศมีฐานเงินออมเพิ่มขึ้น หากต้องการให้ช่วยด้านมาตรการภาษีก็ให้แจ้งมา ส่วนมาตรการลดใช้จ่ายฟุ่มเฟือยจะไปพิจารณามาตรการการเงินการคลังออกมาช่วยให้ประชาชนคิดรอบคอบก่อนซื้อ ใช้จ่ายไม่ฟุ่มเฟือย คล้ายการออกบัตรเครดิตที่ทำได้ยากมากขึ้นกว่าแต่ก่อน
4.การเติมเต็มระบบการออมเพื่อเกษียณอายุ ในปัจจุบันระบบการออมเพื่อเกษียณมีอยู่แล้วในระบบอยู่แล้ว ได้แก่ กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ กองทุนประกันสังคม กองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.) กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.) ทั้งนี้ กองทุนเหล่านี้จะปรับปรุงกฎหมายให้สอดรับกับสังคมผู้สูงอายุ (Aging Sociaty) โดยขณะนี้กองทุนประกันสังคมกำลังเสนอกฎหมายอยู่ ส่วนกองทุนสำรองเลี้ยงชีพกำลังดูอยู่ว่าจะปรับปรุงส่วนไหน เช่นเดียวกับ กบข.
ส่วนกองทุนบำเหน็จบำนาญแห่งชาติที่เป็นระบบใหม่ช่วยเรื่องการออมจะบังคับสำหรับแรงงานที่ไม่ได้อยู่ระบบใดเลย ขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาคณะกรรมการกฤษฎีกา และคาดว่าจะนำเข้าพิจารณา สนช.ภายในปีนี้ และจะมีผลบังคับใช้ในปี 61 แต่ในปีหน้าก็ยังไม่ได้บังคับ 100% โดยจะให้แรงงานในบริษัทใหญ่ๆ เข้าก่อน คาดว่าจะใช้เวลา 7 ปีจึงจะดึงคนเข้าระบบได้ครบทั้งหมด การสะสมสมทบเป็นขั้นบันไดจนถึง 7 ปีก็จะเต็มระบบ ซึ่งถ้าสำเร็จจะมีแรงงงานเข้าระบบกว่า 11 ล้านคน จะมีเงินกองทุน 1,700 ล้านบาท ซึ่งจะเป็นกองทุนที่รองรับปัญหาสังคมชราภาพได้ระดับหนึ่ง
"ถ้าทำเรื่องนี้สำเร็จ เรื่องที่รัฐบาลจะต้องมีงบประมาณดูแลคนชรา 6-7 แสนล้านบาทก็จะลดลงไปอยู่ในระดับที่เราควบคุมได้" นายสมชัย กล่าว