รัฐเตรียมความพร้อมประเทศไทยเข้าสู่ Aging Society เพื่อไม่ให้กระทบต่อวิกฤติการคลัง

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday September 13, 2017 15:14 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายสมชัย สัจจพงษ์ ปลัดกระทรวงการคลัง กล่าวในงานสัมมนาวิชาการเรื่อง "Wellness Aging สูงวัย มีสุข" ในหัวข้อ "เตรียมความพร้อมสู่ THAILAND 4.0 พร้อมความท้าทายของสังคมสูงวัย"ว่า การเตรียมความพร้อมรับ Aging Society เป็นเรื่องที่พูดกันมานานว่ารัฐบาลได้เตรียมความพร้อมไว้เพียงพอหรือไม่ ซึ่งความท้าทายในการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุมีผลกระทบต่อรายรับและรายจ่ายของรัฐบาลอย่างชัดเจน โดยในด้านรายรับ มีแนวโน้มจะลดลงเพราะแรงงานน้อยลง จากปัจจุบันรัฐบาลมีรายรับจากผู้มีเงินได้ สัดส่วน 48% อีก 51% มาจากภาษีของฐานผู้บริโภค ได้แก่ ภาษีมูลค่าเพิ่ม(VAT) ภาษีสรรพสามิต และภาษีศุลกากร และที่เหลืออีก 1% เก็บจากสินทรัพย์

ดังนั้นกระทรวงการคลังจึงต้องการปรับเพิ่มสัดส่วนจากภาษีของสินทรัพย์ หรือ Wealth มากขึ้น ซึ่งหากอนาคตผู้สูงอายุที่มีสินทรัพย์เพิ่มขึ้น ขณะที่รายจ่ายที่รัฐบาลจะต้องใช้ในการดูแลคนชราใน 15 ปีจะเพิ่มขึ้นเป็น 7 แสนล้านบาท ซึ่งจะกลายเป็นวิกฤติการคลังที่จะไม่มีงบประมาณดูแลคนชราได้ จากปัจจุบันสวัสดิการรัฐใช้งบประมาณ 3.3 แสนล้านบาท

ในปัจจุบันมีประชากรในวัยแรงงานอยู่ 43 ล้านคน แรงงานที่มีหลักประกันรายได้เพื่อการชราภาพสัดส่วน 44% โดยมีแรงงานอยู่ในระบบ 16 ล้านคน ส่วนใหญ่ 13.88 ล้านคนอยู่ในระบบกองทุนประกันสังคม และกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ นอกนั้นเป็น กบข. กองทุนสงเคราะห์ครูเอกชน นอกจากนี้ แรงงานนอกระบบ 3 ล้านคนที่เข้าระบบการออมเพื่อเกษียณ ได้แก่ กองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.) 5.2 แสนคน กองทุน RMF ประกันชีวิตบำนาญ ส่วนอีก 56% ไม่มีหลักประกันรายได้เพื่อการชราภาพ โดยมีแรงงานนอกระบบ 24 ล้านคน

นายสมชัย กล่าวว่า รัฐบาลได้จัดตั้ง กอช. เพื่อให้แรงงานนอกระบบออมเงินเพื่อวัยเกษียณ เช่น แม่ค้าหาบเร่แผงลอย วินมอเตอร์ไซค์ คนขับรถแท็กซี่ แต่มีผู้สมัครเพียง 5.2 แสนคนต่ำกว่าเป้าที่ตั้งไว้ที่ 20 ล้านคน แต่เพราะเป็นการสมัครใจและคนเหล่านี้ไม่มีเงินมากพอที่จะออม เพราะมีรายได้น้อย และในจำนวนนี้ 1.3 ล้านคนมีหนี้นอกระบบ จึงเห็นว่าหากไม่มีระบบรองรับการออม จะทำให้รัฐบาลเกิดวิกฤติการคลังได้ รัฐบาลจึงจัดตั้งกองทุนบำเหน็จบำนาญแห่งชาติเพื่อรองรับสังคมผู้สูงอายุ และไม่ให้เกิดวิกฤติการคลัง

ด้านนพ.สุรเดช วลีอิทธิคุณ เลขาสำนักงานประกันสังคม กระทรวงแรงงาน กล่าวว่า สำนักงานประกันสังคมได้ดำเนินการปฏิรูประบบบำนาญประกันสังคมเพื่อให้ผู้ประกันตนมีเงินเพียงพอใช้ในวัยเกษียณ โดยขยายอายุเกษียณจาก 55 ปี เป็น 60 ปี จะทำให้ผู้ประกันตนมีอายุสมทบเงินนานเป็น 28 ปี จะมีเงิน 40% ของเงินเดือนสุดท้ายที่เป็นไปตามเกณฑ์ทั่วโลกจากเดิมมีอายุสมทบเงิน 22 ปี

นอกจากนี้ได้ปรับเรื่องใช้ค่าจ้างเฉลี่ยปรับตามดัชนีการทำงานตลอดชีพ เพื่อให้เป็นธรรมแก่แรงงานที่เงินเดือนลดน้อยลงก่อนการเกษียณหรือเปลี่ยนเป็นผู้ประกันตนตาม ม.39 , การปรับเพิ่มเพดานฐานค่าจ้างสูงสุดซึ่งจะได้รับบำนาญที่เหมาะสมและสะท้อนตามดัชนีค่าจ้างที่ปรับเพิ่มขึ้น รวมทั้งปรับมูลค่าบำนาญตามภาวะเงินเฟ้อ และปรับเพิ่มอัตราเงินสมทบ

เลขาสำนักงานประกันสังคม กล่าวว่า ขณะนี้อยู่ระหว่างการรับฟังความคิดเห็นการปฏิรูประบบบำนาญประกันสังคม ซึ่งดำเนินการแล้ว 2 ครั้งในกรุงเทพฯ และเชียงใหม่ จากที่จะทำอีก 10 ครั้งจากทั้งหมด 12 ครั้ง ทั้งนี้คาดว่าจะมีผลบังคับใช้ในปี 61

โดยปัจจุบัน เงินกองทุนประกันสังคมอยู่ที่ 1.7 ล้านล้านบาท เป็นเงินต้น 1.2 ล้านล้านบาท และผลตอบแทน 5 แสนล้านบาท หรือประมาณ 30% ทั้งนี้ เงินกองทุนมีผลตอบแทนเฉลี่ยปีละ 5%

เลขาสำนักงานประกันสังคม กล่าวว่า กองทุนประกันสังคมได้ปรับเพิ่มการลงทุนในต่างประเทศ ทั้งตราสารหนี้และตราสารทุน ไม่น้อยกว่า 10% ของสินทรัพย์ เพื่อเพิ่มโอกาสผลตอบแทนและกระจายความเสี่ยง โดยขณะนี้ลงทุนไปแล้ว 3% ทั้งนี้กองทุนประกันสังคมได้ลงทุนตราสารที่มีความเสี่ยงต่ำไม่น้อยกว่า 6% และตราสารที่มีความเสี่ยงไม่เกิน 40%โดยจำนวนนี้ลงทุนตราสารทุน 20%

นายวิน พรหมแพทย์ ประธานเจ้าหน้าที่การลงทุน บลจ.ซีไอเอ็มบี-พรินซิเบิล กล่าวว่า คณะนักศึกษาหลักสูตรผู้บริหารระดับสูง สถาบันวิทยาการตลาดทุน รุ่นที่ 24 ได้เสนอผลิตภัณฑ์กองทุนพ่วงประกันที่ตอบโจทย์วัยเกษียณที่จะเก็บเบี้ยก่อนแต่จะเริ่มใช้ประกันสัขภาพหลังอายุ 60 ปี ขณะเดียวกันก็จะเก็บเงินอีกส่วนเพื่อการลงทุน และหลังเกษียณจะจ่ายให้เป็นรายเดือนใช้เป็นค่าใช้จ่าย ทั้งนี้ ขอให้สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) แก้เกณฑ์


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ