ศูนย์วิจัยกสิกรฯ ชี้ภาษีสรรพสามิตรถยนต์รูปแบบใหม่กระทบผู้ซื้อน้อย แต่ช่วยจูงใจค่ายรถหันมาผลิตในปท.เพิ่ม

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday September 14, 2017 15:48 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ระบุว่า การที่รัฐบาลได้เปลี่ยนวิธีการคำนวณภาษีสรรพสามิตสำหรับรถยนต์ที่ขายในประเทศเป็นรูปแบบใหม่ โดยการแก้ไขให้จัดเก็บบนฐานราคาขายปลีกแนะนำแทนฐานราคาหน้าโรงงานสำหรับรถยนต์ที่ผลิตในประเทศ และราคานำเข้า CIF สำหรับรถยนต์ที่นำเข้ามาจากต่างประเทศทั้งคัน ทำให้ฐานราคาที่นำมาคำนวณภาษีตามวิธีใหม่สูงขึ้นกว่าแบบเดิมนั้น นอกเหนือจากผลดีที่รัฐบาลจะได้รับจากการจัดเก็บภาษีรถยนต์อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้นแล้ว ในส่วนของประเด็นข้อดีที่รัฐบาลมองว่าจะช่วยให้การแข่งขันในตลาดมีความเท่าเทียมกันมากขึ้นด้วยนั้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่า น่าจะช่วยให้ประโยชน์ทางอ้อมต่อการส่งเสริมความเชื่อมั่นนักลงทุน และเป็นอีกมูลเหตุจูงใจหนึ่งให้ค่ายรถมีการผลิตรถยนต์บางรุ่นในประเทศเพิ่มขึ้นได้ด้วย

"การเปลี่ยนวิธีคำนวณภาษีแบบใหม่ ซึ่งรัฐบาลมองว่าจะช่วยให้เกิดการแข่งขันที่เท่าเทียมมากขึ้นนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทยเห็นว่า จะเป็นการส่งผลดีทางอ้อมต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุน และช่วยจูงใจให้ค่ายรถหันมาลงทุนผลิตรถยนต์ในประเทศเพิ่มขึ้นด้วย โดยเฉพาะ กลุ่มรถยนต์หรู หรือรถยนต์ที่ปัจจุบันยังมีขนาดตลาดจำกัด แต่มีโอกาสเติบโตได้ในอนาคต และรถพลังงานไฟฟ้าที่รัฐบาลให้การสนับสนุนอยู่ในขณะนี้ โดยรถพลังงานไฟฟ้าที่ได้รับการสนับสนุนจากบีโอไอจะยิ่งมีข้อได้เปรียบในด้านการแข่งขันเหนือคู่แข่งรายอื่น"

ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่า จากการปรับวิธีการคำนวณภาษีแบบใหม่ดังกล่าว น่าจะสามารถพิจารณาแยกผลที่คาดว่าจะเกิดขึ้นออกมาตามกลุ่มประเภทรถยนต์ได้เป็น 3 กลุ่ม ดังนี้

1.รถยนต์ที่ผลิตในประเทศ ซึ่งเปลี่ยนการคำนวณภาษีจากเดิมที่คิดจากราคาหน้าโรงงาน มาคิดจากราคาขายปลีกแนะนำนั้น เนื่องจากกรมสรรพสามิตได้มีการปรับลดอัตราภาษีสรรพสามิตลงประมาณ 24% จากอัตราภาษีเดิม ทำให้ไม่เกิดผลกระทบต่อต้นทุนทางภาษีของธุรกิจผลิตรถยนต์ในประเทศอย่างมีนัยสำคัญ โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทยคำนวณแล้วพบว่า ภาระภาษียังคงมีความใกล้เคียงกับของเดิมก่อนเปลี่ยนวิธีคิดภาษีสรรพสามิตใหม่ ทำให้คาดว่าผลที่จะเกิดต่อผู้บริโภคในแง่ของการปรับราคาขายรถยนต์น่าจะยังไม่เกิดขึ้นในระยะอันใกล้นี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภาวะที่มีการแข่งขันกันสูงในตลาดรถยนต์ ผู้บริโภคมีทางเลือกมากขึ้น และติดการได้รับโปรโมชั่นส่งเสริมการตลาดอย่างมากต่อเนื่องหลายปี

อย่างไรก็ตาม หากในอนาคตภาษีสรรพสามิตมีการปรับเปลี่ยนไปจากที่ได้มีการประกาศไว้ ซึ่งอาจกระทบต่อต้นทุนทางภาษีของค่ายรถ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า ก็มีความเป็นไปได้ที่ธุรกิจอาจต้องหากลยุทธ์ทางการตลาดที่เหมาะสมมารับมือกับภาระทางภาษีที่เพิ่มขึ้น เพื่อให้ยังคงสามารถรักษาระดับผลกำไร และไม่ทำให้ผู้บริโภครู้สึกถึงผลกระทบมาก ซึ่งมองว่ายังเป็นประเด็นที่ค่อนข้างท้าทายพอสมควรสำหรับธุรกิจ เนื่องจากสภาพการแข่งขันในปัจจุบันของตลาดรถยนต์ค่อนข้างสูงมาก

แนวทางการปรับตัวที่อาจจะเกิดขึ้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทย เห็นว่ามีโอกาสออกมาในรูปแบบการตัดออปชั่นเสริม ของแถมต่างๆ หรือการรับประกันของศูนย์บริการออกจากราคาขายรถยนต์ เพื่อให้ฐานคำนวณภาษีต่ำลง ซึ่งอาจทำให้ราคาขายปรับลดลงได้เล็กน้อย แล้วนำเสนอทางเลือกที่หลากหลายสำหรับออปชั่น ของแถมต่างๆ รวมถึงการรับประกันของศูนย์บริการ ให้ผู้บริโภคเลือกตามความพึงพอใจและในราคาที่ยินดีจะจ่ายเอง โดยแนวทางดังกล่าวนี้อาจกระทบต่อรายได้จากศูนย์ซ่อมบำรุงของดีลเลอร์รถยนต์ และกลุ่มผู้ผลิตชิ้นส่วนบางรายการที่ถูกตัดออกไปเป็นออปชั่นเสริม หรือของแถม ที่ผู้บริโภคมีสิทธิในการเลือกได้เองว่าจะเอาหรือไม่ นอกจากนี้ค่ายรถอาจมีการทำกลยุทธ์เน้นสร้างภาพลักษณ์รถยนต์ที่ดี ทั้งในแง่รูปลักษณ์ สมรรถนะ ความปลอดภัย ความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และความน่าเชื่อถือของทั้งตัวรถยนต์และศูนย์บริการมากขึ้น เพื่อหลีกเลี่ยงการแข่งขันทางด้านราคาที่จะยิ่งกดดันให้ผลกำไรที่จะได้รับลดน้อยลง

2. รถยนต์นำเข้า คาดว่าจากการคิดภาษีแบบใหม่ที่รัฐบาลมองว่าจะช่วยทำให้การแข่งขันเท่าเทียมกันมากขึ้นในแง่ที่ภาษีจัดเก็บบนฐานราคาขายปลีกแนะนำนี้ น่าจะส่งผลช่วยกระตุ้นให้มีการลงทุนประกอบในประเทศมากขึ้น เนื่องจากยอดจำหน่ายรถยนต์นำเข้าที่ค่ายรถเจ้าของแบรนด์รับรู้ผ่านตัวแทนจำหน่ายอย่างเป็นทางการ สะท้อนยอดความต้องการจริงในตลาดมากขึ้น และหากจำนวนยอดขายจะสูงพอ ค่ายรถยนต์อาจหันมาพิจารณาเข้าร่วมลงทุนกับธุรกิจไทยเพื่อประกอบรถยนต์รุ่นที่มีทิศทางตลาดดีในอนาคต และมีโอกาสจะต่อยอดไปประกอบรุ่นอื่นๆในระยะต่อไปได้หากแบรนด์ได้รับการตอบรับที่ดีในตลาด ซึ่งปัจจุบันก็เริ่มมีตัวอย่างรถยนต์บางแบรนด์ที่ส่งสัญญาณไปในทิศทางดังกล่าวแล้ว ทั้งจากฝั่งยุโรป และเอเชีย โดยประเภทรถยนต์ที่อยู่ในกลุ่มนี้ ได้แก่ รถยนต์หรู หรือรถยนต์ที่ยังมีขนาดตลาดจำกัด แต่มีโอกาสเติบโตได้ในอนาคต ซึ่งเดิมจะเน้นการนำเข้ารถยนต์จากต่างประเทศเป็นหลัก มีผลิตในประเทศเพียงเล็กน้อยเท่านั้น

จากผลกระทบดังกล่าว ธุรกิจนำเข้ารถยนต์จึงอาจต้องมีการปรับตัว โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า ธุรกิจนำเข้ารถยนต์อิสระน่าจะเป็นกลุ่มที่ได้รับผลกระทบมากที่สุด โดยเฉพาะหากเป็นธุรกิจนำเข้ารถยนต์อิสระที่มีสายป่านทางการเงินสั้น ขณะที่ธุรกิจนำเข้ารถยนต์อิสระขนาดใหญ่สายป่านทางการเงินยาว มีธุรกิจเสริม เช่น ศูนย์อะไหล่และซ่อมบำรุงอยู่ด้วย ก็อาจต้องปรับตัวและหากลยุทธ์เสริมมาดึงดูดลูกค้ามากขึ้น เช่น สร้างความประทับใจในการดูแลบริการลูกค้าทั้งก่อนและหลังการขาย อย่างไรก็ตาม ในทำนองเดียวกันธุรกิจนำเข้ารถยนต์ที่เป็นตัวแทนจำหน่ายอย่างเป็นทางการ ก็ต้องมีการปรับตัวเช่นเดียวกันเพื่อรองรับการแข่งขันที่เพิ่มขึ้น

3.รถพลังงานไฟฟ้า เป็นอีกกลุ่มที่คาดว่าจะได้รับอานิสงส์จากการปรับวิธีคิดภาษีแบบใหม่นี้ หากพิจารณาร่วมกับสิทธิประโยชน์ส่งเสริมการลงทุน เนื่องจากเป็นตลาดที่กำลังมีแนวโน้มเติบโตและเป็นที่ยอมรับมากขึ้นในตลาดโลกอย่างต่อเนื่อง และปัจจุบันในไทยก็มีการลงทุนเพื่อจะขยายสถานีชาร์จไฟฟ้ารองรับความต้องการในตลาดในลักษณะที่เติบโตอย่างก้าวกระโดด

โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองเห็นประโยชน์ในแง่ของการดึงดูดการลงทุนผลิตรถพลังงานไฟฟ้าในประเทศ จากการปรับวิธีคิดภาษีใหม่ใน 2 มุม ได้แก่ 1.มาตรการนี้อาจจะช่วยเพิ่มโอกาสทางการแข่งขันมากขึ้นระหว่างรถพลังงานไฟฟ้านำเข้า กับรถพลังงานไฟฟ้าที่ผลิตในประเทศในอนาคต เนื่องจากรถพลังงานไฟฟ้าที่ผลิตในประเทศนั้นต้องมีการลงทุนที่สูง และต้องอาศัยปริมาณยอดซื้อจำนวนมากเพื่อให้สามารถตั้งราคาที่แข่งขันได้ในตลาด รวมถึงสามารถคืนทุนได้ ทั้งนี้หากค่ายรถได้รับการส่งเสริมการลงทุนจากบีโอไอ อาจช่วยในการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันได้จากสิทธิประโยชน์ที่จะได้รับ โดยเฉพาะอากรนำเข้ารถยนต์ไฟฟ้าแบบใช้แบตเตอรี่ (BEV) ในช่วง 2 ปีแรกที่ลดเหลือ 0% จาก 80% ซึ่งเป็นอากรนำเข้ารถยนต์ปกติจากต่างประเทศ

2.วิธีการคำนวณภาษีแบบใหม่ทำให้อัตราภาษีสรรพสามิตสำหรับรถพลังงานไฟฟ้ามีการปรับสัดส่วนลงด้วย โดยคาดว่าสำหรับรถยนต์ไฮบริดและปลั๊กอินไฮบริดน่าจะปรับลดน้อยลงจาก 10% ในปัจจุบัน และหากได้รับการสนับสนุนจากบีโอไอก็จะได้รับการปรับลดภาษีสรรพสามิตลงอีกครึ่งหนึ่งจากอัตราภาษีดังกล่าว ซึ่งน่าจะเป็นผลดีต่อการลงทุนผลิตรถพลังงานไฟฟ้าในประเทศไทย

อย่างไรก็ตาม เมื่อพิจารณาเปรียบเทียบกับอัตราภาษีสรรพสามิตสำหรับรถยนต์ไฟฟ้าแบบ BEV ที่คาดว่าจะยังคงเดิมที่ 2% ซึ่งส่วนต่างทางภาษีดังกล่าวนั้น ผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้าแบบ BEV ในประเทศอาจมองว่าแรงดึงดูดยังไม่เพียงพอสำหรับการลงทุนผลิตได้ อันจะเป็นประเด็นที่ภาครัฐอาจต้องนำไปพิจารณาร่วมกันกับภาคเอกชนต่อไปในอนาคตเพื่อหาแนวทางสนับสนุนการทำตลาดรถยนต์ไฟฟ้าแบบ BEV อื่นๆ เพิ่มเติม

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ระบุว่า จากการปรับวิธีการคำนวณภาษีใหม่โดยคิดจากราคาขายปลีกแนะนำดังกล่าวข้างต้น ส่งผลในหลายแง่มุมกับธุรกิจที่เกี่ยวข้อง โดยภาพรวมรถยนต์ที่ผลิตในประเทศไม่ได้รับผลกระทบนักจากแนวทางดังกล่าว ซึ่งทำให้ในระยะอันใกล้นี้ค่ายรถน่าจะยังคงดำเนินแผนการตลาดเช่นเดิมเพื่อกระตุ้นยอดขายรถยนต์ในช่วงภาวะตลาดที่แข่งขันสูงและกำลังฟื้นตัวอยู่นี้

อย่างไรก็ตาม ธุรกิจที่ได้รับผลกระทบมากกว่าจากการปรับวิธีคิดภาษี คือ กลุ่มธุรกิจนำเข้ารถยนต์ ซึ่งหากไม่ใช่กลุ่มธุรกิจตัวแทนจำหน่ายอย่างเป็นทางการรายใหญ่ที่มียอดขายมากพอจนทำให้ค่ายรถเจ้าของแบรนด์สนใจให้เข้ามาประกอบรถยนต์ในประเทศ ก็อาจต้องมีการปรับตัวในระดับที่แตกต่างกันไปตามขนาดกิจการและผลกระทบที่ได้รับ


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ