น.ส.ชุติมา บุณยประภัศร รมช.เกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยภายหลังลงพื้นที่ติดตามการดำเนินงานของนาแปลงใหญ่และการดำเนินงานโครงการเชื่อมโยงตลาดข้าวอินทรีย์ และข้าว GAP ครบวงจร ณ จังหวัดชัยนาทว่า วันนี้ได้พูดคุยกับกลุ่มเกษตรกรสมาชิกนาแปลงใหญ่ ตำบลมะขามเฒ่า อำเภอวัดสิงห์ และตำบลนางลือ - ท่าชัย อำเภอเมือง จังหวัดชัยนาท รวมทั้งประธานกลุ่มนาแปลงใหญ่อีก 7 กลุ่มในจังหวัดชัยนาท พบว่าเกษตรกรได้รวมกลุ่มกันอย่างเข้มแข็ง จุดเด่นของที่นี่ คือ เป็นแหล่งผลิตเมล็ดพันธุ์คุณภาพดี ได้รับการรับรองมาตรฐานเมล็ดพันธุ์ GAP Seed เชื่อมโยงตลาดกับศูนย์เมล็ดพันธุ์ข้าวและผู้ประกอบการ โดยกลุ่มเกษตรกรสามารถกำหนดราคาขายเมล็ดพันธุ์ได้ล่วงหน้า มีตลาดรับซื้อแน่นอน
ทั้งนี้ รมช.เกษตร ได้กล่าวชื่นชมกลุ่มเกษตรกรที่นี่มากเนื่องจากร่วมมือร่วมใจกันในการบริหารแปลงใหญ่จนประสบความสำเร็จ มีการกำหนดนโยบายในการพัฒนาแปลงใหญ่ในภาพรวมของจังหวัด แต่ละกลุ่มจะวางแผนการผลิตและการตลาดให้สอดคล้องกับแผนของจังหวัดในการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตโดยปรับแผนให้เหมาะสมกับแต่ละพื้นที่ สามารถต่อรองลดราคาปัจจัยการผลิตทั้งปุ๋ย ค่าเตรียมแปลง และค่าเก็บเกี่ยว รวมทั้งต่อรองราคาขายกับผู้รับซื้อ โดยมีหน่วยงานภาครัฐให้การสนับสนุนและดูแลอย่างใกล้ชิด ได้รับการถ่ายทอดองค์ความรู้ในการลดเมล็ดพันธุ์โดยปรับเปลี่ยนวิธีการทำนาจากการหว่านมาเป็นการหยอดโดยใช้เครื่องหยอดหรือเครื่องโรยข้าวงอก สามารถลดการใช้เมล็ดพันธุ์จาก 20-30 กก./ไร่ เป็น 5-10 กก./ไร่ ต้นข้าวแข็งแรง แตกกอได้ดี เชื้อโรคก็น้อยลง ลดการใช้สารกำจัดศัตรูพืช ลดการใช้ปุ๋ยโดยใส่ปุ๋ยตามค่าวิเคราะห์ดิน นอกจากนี้ กรมชลประทานยังดำเนินการส่งน้ำให้เกษตรกรที่ทำนาตามแผนการปล่อยน้ำตามความเหมาะสมของระดับน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยา ทั้งนี้ จะให้การสนับสนุนน้ำในการทำนาปี ปีละ 1 ครั้งเท่านั้นโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย
"สิ่งที่น่าประทับใจมากคือ เกษตรกรที่นี่กระตือรือร้นในการเพิ่มพูนความรู้และตื่นตัวในการพัฒนาการผลิตโดยพร้อมปรับเปลี่ยนการทำนา ทำให้ได้ข้าวที่มีคุณภาพดีขึ้น โดยทางผู้ว่าราชการจังหวัดให้การสนับสนุนเต็มที่ในการยกระดับการผลิตข้าว ในปี 2560 ทางจังหวัดจัดสรรงบประมาณในการจัดซื้อเครื่องจักรกลการเกษตรอย่างครบวงจรให้แก่กลุ่มนาแปลงใหญ่ที่มีการรวมกลุ่มอย่างเข้มแข็ง ร่วมกันบริหารเครื่องจักรกลได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทำให้เกษตรกรเชื่อมั่นว่าจะสามารถเพิ่มคุณภาพข้าวและลดต้นทุนการผลิตได้ ในปีที่ผ่านมา สามารถลดต้นทุนจาก 5,800 ต่อไร่ เหลือ 4,200 บาทต่อไร่ และตั้งเป้าในปี 2561 จะลดต้นทุนให้เหลือ 3,800 บาทต่อไร่ และเพิ่มผลผลิตให้ได้ 10%" น.ส.ชุติมา กล่าว
นอกจากนี้ ผู้ประกอบการข้าวในจังหวัดชัยนาทพร้อมที่จะรับซื้อข้าวจากชาวนาด้วยความโปร่งใสโดยโรงสีที่เป็นสมาชิกชมรมโรงสีของจังหวัดมีเครื่องมือในการวัดคุณภาพข้าว เช่น เครื่องวัดสิ่งเจือปน ที่ได้มาตรฐาน โดยทางโรงสีเสนอแนะให้เกษตรกรให้ความสำคัญกับการรักษาสิทธิของตนเองโดยควรนำข้าวมาขายเองและหากมีข้อสงสัยเกี่ยวกับราคารับซื้อก็สามารถซักถามเพื่อเป็นการสร้างระบบการค้าข้าวที่เป็นธรรม โดยหน่วยงานของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ควรที่จะเข้ามาให้ความรู้เกี่ยวกับเอกสารต่างๆที่ใช้ในการซื้อขายข้าวให้แก่เกษตรกรเพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องอีกทางด้วย
พร้อมกันนี้ น.ส.ชุติมายังได้ให้กำลังใจให้ทุกภาคส่วนร่วมกันขับเคลื่อนการพัฒนาการผลิตข้าวสู่ข้าวคุณภาพ เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของเกษตรกรอย่างยั่งยืน