ศูนย์วิจัยกสิกรฯ มองการปรับลดงบดุลเฟดมีผลกระทบตลาดเงินโลกไม่มากเหตุมีขนาดค่อนข้างจำกัด

ข่าวเศรษฐกิจ Friday September 15, 2017 18:21 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดการประชุมเฟดรอบหกของปี 2560 ในวันที่ 19-20 ก.ย.60 น่าจะมีมติคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับ 1.00-1.25% เพื่อรอประเมินพัฒนาการของเงินเฟ้อในช่วงต่อไปอีกระยะ แต่จะมีมติเริ่มดำเนินการปรับลดขนาดงบดุลจำนวน 10 พันล้าน แบ่งเป็น พันธบัตรรัฐบาลจำนวน 6 พันล้านดอลลาร์ฯ และ MBS จำนวน 4 พันล้านดอลลาร์ฯ ตามลำดับ รวมทั้งเปิดเผยรายละเอียดของแนวทางปรับลดที่ชัดเจนในการประชุมวันที่ 19-20 ก.ย.60 ทั้งนี้ผลกระทบของการปรับลดงบดุลต่อตลาดการเงินโลกคงมีไม่มาก เนื่องจากขนาดของการปรับลดงบดุลในช่วงต้นยังค่อนข้างจำกัด

อย่างไรก็ตาม จุดสนใจของการประชุมในครั้งนี้คงอยู่ที่การส่งสัญญาณของเฟดถึงความเชื่อมั่นต่อภาวะการขยายตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯ ในระยะข้างหน้า ซึ่งรวมถึงการส่งสัญญาณถึงโอกาสในการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายอีก 1 ครั้งในปีนี้ อาจจะส่งผลให้ค่าเงินสหรัฐฯ ทยอยกลับมาแข็งค่าในช่วงที่เหลือของปีได้ และอาจบ่งชี้ว่าเงินดอลลาร์ฯ อาจจะกำลังผ่านจุดต่ำสุดแล้ว

ในทางกลับกันหากการส่งสัญญาณของเฟดขาดความชัดเจน หรือเฟดปรับเปลี่ยนมุมมองต่อพัฒนาการเงินเฟ้ออย่างมีนัยสำคัญ อาจสร้างแรงกดดันต่อการอ่อนค่าของเงินดอลลาร์ฯ ให้เกิดขึ้นต่อเนื่องไปอีกระยะ โดยในกรณีที่เฟดไม่สามารถขึ้นอัตราดอกเบี้ยได้ในช่วงปลายปี อาจส่งผลให้ตลาดการเงินมองว่า โอกาสที่เฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยครั้งต่อไปคงจะถูกลากยาวออกไปหลังจากไตรมาส 1/2561 เป็นอย่างน้อย เนื่องจากในเดือนกุมภาพันธ์ 2561 จะเป็นช่วงที่วาระการดำรงตำแหน่งของนางเจเน็ต เยลเลน ประธานธนาคารสหรัฐฯ หมดลง กอปรกับจำนวนที่นั่งของคณะกรรมการบริหาร (Board of Governor) ที่ว่างถึง 4 ที่นั่ง หลังจากนายสแตนลีย์ ฟิชเชอร์ ได้ประกาศลาออก ทำให้อาจเกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญต่อท่าทีในการดำเนินนโยบายการเงินของคณะกรรมการนโยบายการเงินของสหรัฐฯ ชุดใหม่ของสหรัฐฯ อันคงเป็นประเด็นสำคัญอีกประเด็นที่ต้องจับตา

ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ได้รวบรวมประเด็นที่น่าติดตามในการประชุมเฟดครั้งนี้ ดังนี้

1.เฟดน่าจะยังคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับ 1.00-1.25% ในการประชุมวันที่ 19-20 ก.ย.60 ท่ามกลางแรงกดดันเงินเฟ้อของสหรัฐฯ ที่ยังคงอ่อนแรงกว่าที่คาด ขณะที่ข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ทั้งการขยายตัวของเศรษฐกิจที่เร่งขึ้น ตลอดจน พัฒนาการของตลาดแรงงานที่แข็งแรงอยู่ ยังคงเปิดโอกาสให้เฟดสามารถปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีกครั้งในช่วงปลายปีนี้ได้ อย่างไรก็ดี ปัจจัยที่มีผลต่อทิศทางการปรับตัวของตลาดคงกลับมาให้ความสนใจประเด็นการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายว่าเฟดจะยังคงส่งสัญญาณสนับสนุนการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายอีกครั้งในปีนี้หรือไม่ โดยเฟดจะมีการเปิดเผยประมาณการเศรษฐกิจล่าสุด โดยเฉพาะคาดการณ์การขยายตัวของเศรษฐกิจและเงินเฟ้อ ตลอดจนมุมมองอัตราดอกเบี้ยในระยะข้างหน้าอันคงจะเป็นประเด็นที่ส่งผลต่อความเคลื่อนไหวของตลาดในระยะต่อไป

2.จุดสนใจในการประชุมครั้งนี้คงขึ้นอยู่กับการประกาศเริ่มกระบวนการปรับลดขนาดงบดุลของเฟด ซึ่งในช่วงปีแรกยังมีขนาดจำกัด เนื่องจากเฟดได้มีการกำหนดเพดานสูงสุดสำหรับตราสารหนี้ (ประกอบด้วย พันธบัตรรัฐบาล ตราสารหนี้ของหน่วยงานของรัฐ และหลักทรัพย์ที่มีสัญญาจำนองค้ำประกัน หรือ MBS) ที่เฟดจะปล่อยให้ครบกำหนดซึ่งจะไม่มีการนำกลับมาลงทุนใหม่ โดยมีวงเงินไม่เกิน 6 พันล้านดอลลาร์ฯ และ 4 พันล้านดอลลาร์ฯ ต่อเดือน ตามลำดับในช่วงแรก ก่อนที่จะปรับเพิ่มขึ้นอีก 6 พันล้านดอลลาร์ฯ และ 4 พันล้านดอลลาร์ฯ ต่อเดือนในทุกๆ ไตรมาส โดยมีกรอบสูงสุดที่ระดับ 30 พันล้านดอลลาร์ฯ สำหรับตราสารหนี้ และ 20 พันล้านดอลลาร์ฯ สำหรับ MBS ซึ่งกรอบวงเงินสูงสุดดังกล่าวจะเกิดขึ้นในปี 2019 เนื่องจากแผนการทยอยลดการเข้าซื้อตราสารหนี้ส่งผลให้ขนาดงบดุลที่ปรับลดลงในปี 2017 และ 2018 ยังคงมีไม่มากนัก

ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่า ผลของการปรับลดขนาดงบดุลไม่น่าจะมีนัยต่อความผันผวนในตลาดการเงินอย่างมีนัยสำคัญ เนื่องจากปริมาณการลดมีสัดส่วนที่เล็กเทียบกับมูลค่าการออกพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ และ MBS ในปี 2016 ที่มีอยู่ที่ระดับ 2.2 ล้านล้านดอลลาร์ฯ และ 2 ล้านล้านดอลลาร์ฯ ตามลำดับ โดยคาดว่า ขนาดของงบดุลที่จะปรับลดลงไปอยู่ที่ประมาณ 3 หมื่นล้านล้านดอลลาร์ฯ ในปี 2017 และ 3.8 แสนล้านดอลลาร์ฯ ในปี 2018 ก่อนที่ปรับเร่งขึ้นในปี 2019 ไปอยู่ที่ประมาณ 4.3 แสนล้านดอลลาร์ฯ อันเป็นระดับการปรับลดที่สูงสุด ภายใต้เงื่อนไขที่เฟดไม่ได้มีการขายตราสารออกไป (Outright Sell) ทำให้การลดลงของตราสารหนี้ที่ทยอยครบกำหนดจะอยู่ในต่ำกว่ากรอบสูงสุดที่เฟดกำหนดไว้ในแต่ละช่วงเวลา

ประเด็นเกี่ยวกับขนาดของงบดุลที่เหมาะสมของเฟดเป็นอีกประเด็นที่ต้องติดตาม โดยในเบื้องต้น เฟดมองว่าระยะเวลาที่งบดุลของสหรัฐฯ จะกลับเข้าสู่ระดับปกติ น่าจะเกิดขึ้นหลังจากปี 2020 เป็นอย่างเร็ว โดยเจ้าหน้าที่เฟดเคยประเมินไว้ว่าขนาดของงบดุลสหรัฐฯ ในช่วงปี 2023 อาจจะอยู่ในช่วง 2.4-3.5 ล้านล้านดอลลาร์ฯ ขึ้นอยู่กับพัฒนาการของเศรษฐกิจสหรัฐฯ ในระยะต่อไป ทั้งนี้คงต้องยอมรับว่าด้วยบริบทของตลาดการเงินสหรัฐฯ ที่เปลี่ยนแปลงไปมากจากช่วงก่อนวิกฤติ ส่งผลให้ขนาดงบดุลที่เหมาะสมของสหรัฐฯ อาจมีขนาดที่ใหญ่กว่าในอดีต โดยเฟดเคยประเมินว่าด้วยขนาดของเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่ปรับเพิ่มขึ้นตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจเมื่อเทียบกับช่วงก่อนวิกฤติ นอกจากนี้การที่เฟดยังคงใช้ปริมาณเงินสำรองของธนาคารเป็นเครื่องมือเพิ่มเติมในการดำเนินนโยบายการเงินในช่วงหลังวิกฤติเศรษฐกิจ อันหมายถึงความจำเป็นที่จะต้องคงขนาดงบดุลเพื่อรองรับกิจกรรมส่วนนี้ด้วย

3.ผลจากการปรับลดขนาดงบดุลของเฟดในระยะเริ่มต้นต่อตลาดการเงินโลกคงมีไม่มาก เนื่องจากผลของการปรับลดงบดุลไม่ได้กระทบต่ออัตราดอกเบี้ยทางตรง แต่เป็นการกระทบอัตราดอกเบี้ยทางอ้อม เสมือนการเพิ่มปริมาณอุปทานตราสารหนี้ในตลาด ทั้งปริมาณพันธบัตรรัฐบาล และ MBS ซึ่งกดดันให้อัตราผลตอบแทนปรับขึ้นได้บางส่วน ในขณะที่ผลข้างเคียงส่วนใหญ่จะกระทบตลาดภายในสหรัฐฯ มากกว่า อาทิ การปล่อยสินเชื่อของสถาบันการเงินสหรัฐฯ ที่อาจได้รับผลกระทบ หากปริมาณเงินฝากในระบบไหลออกไป นอกจากนี้การปรับลดการถือครอง MBS ของเฟด อาจส่งผลให้อัตราสินเชื่อที่อยู่อาศัยโดยรวมปรับตัวสูงขึ้น อันคงจะเป็นปัจจัยที่ชะลอระดับการฟื้นตัวของภาคอสังหาริมทรัพย์ลงบางส่วน อย่างไรก็ดี เฟดคงหาเครื่องมือในการจัดการกับผลกระทบเชิงลบดังกล่าว เพื่อลดทอนผลกระทบต่อภาคเศรษฐกิจจริงให้มีน้อยที่สุด สำหรับผลต่อตลาดการเงินโลก การปรับลดขนาดงบดุลอาจจะเป็นการส่งสัญญาณไปยังตลาดโลกว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯ แข็งแกร่งเพียงพอที่จะปรับเปลี่ยนนโยบายการเงินให้เป็นปกติ อันคงน่าจะสนับสนุนให้เงินดอลลาร์ฯ ทยอยปรับแข็งค่าขึ้นในระยะต่อไป แต่ไม่น่าจะส่งผลให้เกิดภาวะการไหลกลับของเงินทุนเข้าตลาดสหรัฐฯ อย่างฉับพลัน


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ