นายก่อกิจ ด่านชัยวิจิตร รองเลขาธิการ สำนักงานกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) กล่าวว่า กสทช.ได้เปิดรับฟังความเห็น ร่างประกาศ กสทช. เรื่อง มาตรการกำกับดูแลการรวมธุรกิจในกิจการโทรคมนาคม เพื่อให้การรวมกิจการมีประสิทธิภาพ ใช้เวลาและค่าใช้จ่ายลดลง
โดยภายหลังการรับฟังความคิดเห็นจะปรับปรุงร่างเสนอบอร์ด กสทช. ภายใน 45 วัน และคาดว่าจะสามารถประกาศในราชกิจจานุเบกษาได้ในช่วงปลายปีนี้หากไม่มีการแก้ไขมาก
สำหรับการปรับเปลี่ยนมีสาระสำคัญ อาทิ ให้ใช้คำว่ารวมธุรกิจ แทนควบรวมกิจการ มีการปรับปรุงโดยเพิ่มนิยาม คำว่า บริษัทในกลุ่ม บริษัทในเครือ เพิ่มผู้มีอำนาจควบคุมต้องถือหุ้นเกินกว่า 50% (แก้ให้สอดคล้องกับพ.ร.บ.หลักทรัพย์ฯ) การแจ้งให้กสทช. ทราบ แบ่งกระบวนการออกเป็น แจ้งล่วงหน้าไม่น้อยกว่า 90 วัน (เพื่อให้สำนักงานฯทำความเห็นเสนอบอร์ดพิจารณาผลกระทบจากการรวมธุรกิจ และออกเป็นมาตรการเฉพาะ) ถ้ามีการรวมกันแล้วเกิดนิติบุคคลใหม่ หรือเข้าถือหุ้นมากกว่า 25% หรือรวมกันแล้วมีสินทรัพย์มากกว่า 14,000 ล้านบาท จากนั้นเมื่อมีการรวมธุรกิจแล้วให้แจ้งกสทช. ภายใน 7 วัน กรณีการรวมธุรกิจของบริษัทในกลุ่มหรือบริษัทในเครือ ส่วนการทะยอยซื้อหุ้นหากไปแตะสัดสัวน 10% และ 15% ต้องแจ้ง สำหรับการรวมธุรกิจเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพหากเป็นการรวมธุรกิจของหน่วยงานรัฐให้แจ้งภายใน 7 วัน
"ตลอดระยะเวลา 7 ปีที่ผ่านมา มีผู้รับใบอนุญาตประกอบกิจการโทรคมนาคมดำเนินการวมกิจการไปแล้ว 8 คำขอ ทั้งนี้การดำเนินการควบรวมกิจการใช้เวลาค่อนข้างยาวนานถึง 103 วันโดยผู้รับใบอนุญาตยังต้องเสียค่าใช้จ่ายในการจัดทำความเห็นประกอบและรายงานการวิเคราะห์ของที่ปรึกษาอิสระเฉลี่ยอยู่ที่ 50,000 บาทต่อฉบับ หรือคิดเป็นค่าใช้จ่ายทั้งสิ้นประมาณ 400,000 บาทต่อหนึ่งคำขอ กสทช.จึงยกร่างประกาศให้การรวมกิจการมีประสิทธิภาพโดยให้ใช้เวลาและค่าใช้จ่ายลดลง"
นายประเสริฐ ศีลพิพัฒน์ กรรมการ กสทช. ด้านกิจการโทรคมนาคม กล่าวว่า การปรับปรุงร่างประกาศเพื่อให้สอดคล้องกับสภาพแวดล้อมทางธุรกิจ จากเดิมการรวมกิจการจะต้องแจ้งให้กสทช.ทราบก่อน ได้ปรับเปลี่ยนให้การควบรวมกิจการขนาดเล็กดำเนินการได้ก่อนจากนั้นจึงแจ้งกสทช. ส่วนกิจการขนาดใหญ่จะต้องแจ้งกสทช.ล่วงหน้า เมื่อรวมกิจการแล้วให้แจ้งผลกับกสทช.อีกครั้ง ภายใน 7 วัน ส่วนความกังวลว่าการควบรวมกิจการจะทำให้เกิดการครอบงำตลาด หรือมีอำนาจเหนือตลาดหรือไม่ ได้เปิดโอกาสให้กสทช.สามารถออกมาตรการเฉพาะเข้ามาดูแลได้
"สำหรับการควบรวมกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ บอร์ดมีความเห็นให้มีประกาศในลักษณะเดียวกันแต่จะแตกต่างกัน โดยร่างประกาศจะไม่มีผลย้อนหลังกับผู้ที่มีการซื้อหุ้นครอบครองกิจการไปแล้ว" นายประเสริฐ กล่าว