นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการ สำนักงานกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) กล่าวว่า สำนักงาน กสทช.คาดว่าการทำร่างประกาศการเรียกคืนคลื่นความถี่ที่ไม่ได้ใช้ประโยชน์หรือใช้ประโยชน์ไม่คุ้มค่าหรือนำมาใช้ประโยชน์ให้คุ้มค่ายิ่งขึ้น จะเสร็จสิ้นในเดือน พ.ย.60 โดยกระบวนการเรียกคืนคลื่นความถี่น่าจะเริ่มต้นในเดือน ธ.ค.โดยคลื่นที่มองไว้คือ 2600 เมกกะเฮิรตซ์ และ 2300 เมกกะเฮิร์ซ แต่จะเป็นคลื่นไหนนั้น สำนักงานฯ จะทำการศึกษาออกมาด้วย
นายฐากร กล่าวในการรับฟังความคิดเห็นเฉพาะกลุ่มร่างประกาศ กสทช.เรื่องหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการเรียกคืนคลื่นความถี่ที่ไม่ได้ใช้ประโยชน์หรือใช้ประโยชน์ไม่คุ้มค่าหรือนำมาใช้ประโยชน์ให้คุ้มค่ายิ่งขึ้นว่า กสทช.ได้กำหนดหลักการและแนวคิดในการเรียกคืนคลื่นความถี่ต่อเมื่อประเมินผลประโยชน์ต่อสังคมของการเรียกคืนมีค่ามากกว่าผลประโยชน์ต่อสังคม โดยหลักการในการทดแทนชดใช้ หรือจ่ายค่าตอบแทนกำหนดการสนับสนุนไว้ 3 รูปแบบคือ การทดแทน, การชดใช้ หรือการจ่ายค่าตอบแทน
กสทช.ได้กำหนดหลักการในการพิจารณาจัดสรรคลื่นความถี่เพื่อให้ประโยชน์สูงสุด 3 ประการ คือ การเรียกคืนคลื่นความถี่ต้องคำนึงถึงหลักการความมีประสิทธิภาพและความคุ้มค่าในการใช้ประโยชน์ โดยพิจารณาจากปัจจัยที่เกี่ยวข้องทางด้านเทคนิค ด้านเศรษฐกิจ และด้านสังคม โดยสำนักงานฯ จะพิจารณาเรียกคืนคลื่นความถี่ก็ต่อเมื่อผลประโยชน์ต่อสังคมโดยรวมของการเรียกคืนคลื่นความถี่สูงขึ้นเทียบกับการไม่เรียกคืน
การเข้าเรียกคืนคลื่นความถี่และการพิจารณาทดแทน ชดใช้ และจ่ายค่าตอบแทน ต้องคำนึงถึงหลักการความเป็นธรรม ความสมเหตุสมผลและความโปร่งใสจึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องสร้างความเชื่อมั่นให้กับสังคม โดยมีขั้นตอนในการพิจารณาอย่างโปร่งใสเปิดเผยและตรวจสอบได้ โดยจะมีการตั้งคณะอนุกรรมการ ประกอบด้วย ตัวแทนภาครัฐที่เป็นผู้กำหนดนโยบายสำคัญของประเทศเข้ามามีส่วนร่วมในการพิจารณากำหนดการทดแทน ชดใช้ หรือจ่ายค่าตอบแทนสำหรับผู้ถูกเรียกคืนคลื่นความถี่ อาทิ ผู้แทนจากกระทรวงการคลัง, ผู้แทนจากสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา, ผู้แทนจากสำนักงานอัยการสูงสุด, ผู้แทนจากสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ, ผู้แทนจากสำนักงบประมาณ และผู้แทนจากสำนักงานคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ
"กสทช.จะส่งหนังสือเรียกคืนคลื่นความถี่จากท่านเอง ไม่ต้องเอามาคืนก่อน เมื่อแจ้งขอคืนคลื่นแลัวได้รับคำตอบรับแล้ว กสทช.จะเชิญมาตกลงกัน จากนั้นจะทำบทวิเคราะห์ประเมินมูลค่าคลื่น โดยจะให้สถาบันการศึกษาประเมินมูลค่าคลื่นและแนวทางชดเชยเพื่อกำหนดหลักเกณฑ์ให้ตรงกับมูลค่าคลื่น จากนั้นจะตั้งโต๊ะเจรจาเพื่อหาข้อสรุป ขั้นตอนทั้งหมดจะกำหนดกรอบเวลาที่ชัดเจนสอดคล้องกับการประมูลคลื่นที่จะเกิดขึ้น ส่วนผลการประชุมวันนี้จะนำเข้าสู่อนุกรรมการกลั่นกรองด้านโทรคมนาคม จากนั้นจะเสนอบอร์ดให้ความเห็นชอบแล้วนำไปรับฟังเห็นสาธารณะแลัวจึงนำมาปรับปรุงเพื่อขอความเห็นชอบของบอร์ดก่อนจะประกาศในราชกิจจานุเบกษา" นายฐากร กล่าว