กลุ่มงานโกลบอลมาร์เก็ตส์ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา (BAY) กล่าวว่า กรณีที่ประชุมธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) มีมติคงอัตราดอกเบี้ย Fed funds ไว้ในช่วง 1.00-1.25% ตามความคาดหมาย โดยเฟดคาดว่าจะเริ่มปรับลดการถือครองพันธบัตรสหรัฐฯ และหลักทรัพย์ที่มีสัญญาจำนองค้ำประกันวงเงิน 4.2 ล้านล้านดอลลาร์ในเดือนตุลาคม ซึ่งเป็นสินทรัพย์ที่เฟดเข้าซื้อภายใต้มาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (QE) หลังเกิดวิกฤตการเงินปี 2550-2552 โดยเจ้าหน้าที่เฟด 11 จาก 16 ราย สนับสนุนให้เฟดขึ้นดอกเบี้ยก่อนสิ้นปีนี้ ขณะที่เฟดส่งสัญญาณว่าจะปรับดอกเบี้ยขึ้นอีก 3 ครั้งในปี 2561 แม้ว่าอัตราเงินเฟ้อจะอยู่ที่ระดับต่ำ และประเมินว่าความเสียหายจากพายุเฮอริเคนจะไม่ส่งผลต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจในระยะกลาง
เงินบาทอ่อนค่าสู่ระดับ 33.12 บาทต่อดอลลาร์ ในช่วงเปิดซื้อขายเช้านี้เทียบกับ 33.07 บาทต่อดอลลาร์ช่วงท้ายตลาดเมื่อวานนี้ หลังมีแรงซื้อเงินดอลลาร์เทียบกับสกุลเงินสำคัญ เงินเยนแตะระดับอ่อนค่าสุดในรอบ 2 เดือนเมื่อเทียบกับดอลลาร์ ขณะที่ธนาคารกลางญี่ปุ่นจะสิ้นสุดการประชุมในวันนี้และคาดว่าจะไม่มีการเปลี่ยนแปลงนโยบายการเงิน
ทั้งนี้ อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ ทุกช่วงอายุปรับตัวสูงขึ้นหลังเฟดกล่าวแถลงการณ์ ส่วนสัญญาอัตราดอกเบี้ยล่วงหน้าบ่งชี้ว่า ความน่าจะเป็นสำหรับการขึ้นอัตราดอกเบี้ยในเดือนธันวาคมสูงขึ้นเหนือระดับ 60% และการแข็งค่าของเงินดอลลาร์กดดันราคาทองคำที่ตลาดสหรัฐฯ ด้วย
กลุ่มงานโกลบอลมาร์เก็ตส์ BAY มองว่า ท่าทีล่าสุดของเฟดจะช่วยชะลอการแข็งค่าของเงินบาทได้บ้าง การไหลเข้าของเงินทุนสู่กลุ่มตลาดเกิดใหม่รวมทั้งไทยจึงน่าจะมีแนวโน้มลดลง ในปีนี้เงินบาทแข็งค่าขึ้นแล้วกว่า 8% ซึ่งเป็นสกุลเงินที่แข็งค่ามากที่สุดในเอเชีย อย่างไรก็ดี คาดว่าดอลลาร์จะกลับมาอ่อนค่าในระยะ 3-6 เดือนข้างหน้า หลังจากกระแสการคุมเข้มนโยบายการเงินนอกสหรัฐฯ เริ่มมีสัญญาณชัดเจนมากขึ้นจากธนาคารกลางแคนาดาและธนาคารกลางอังกฤษ ขณะที่เฟดจะปรับลดขนาดพอร์ตลงทุนอย่างค่อยเป็นค่อยไปโดยเริ่มจาก 1 หมื่นล้านดอลลาร์ต่อเดือน ผู้ประกอบการจึงควรป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนอย่างสม่ำเสมอ เนื่องจากตลาดการเงินโลกมีทิศทางผันผวนจากปัจจัยเสี่ยงที่มีมิติหลากหลายมากขึ้น
สำหรับปัจจัยชี้นำสำคัญถัดไป กลุ่มงานโกลบอลมาร์เก็ตส์ BAY มองว่า ตลาดจะให้ความสนใจกับการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ของไทยในวันที่ 27 กันยายน รวมทั้งความคืบหน้าของนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจสำคัญจากรัฐบาลทรัมป์ อาทิ การปฏิรูปภาษี และการลงทุนขนาดใหญ่ การเจรจา Brexit ระหว่างสหราชอาณาจักรและสหภาพยุโรป ส่วนความตึงเครียดบนคาบสมุทรเกาหลี ในระยะหลังส่งผลกระทบต่อตลาดอย่างจำกัด แต่นักลงทุนไม่ควรมองข้ามความเสี่ยงด้านรัฐภูมิศาสตร์นี้เช่นกัน