นายวีระพล จิรประดิษฐกุล กรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ในฐานะโฆษก กกพ. เปิดเผยว่า สำหรับความคืบหน้าเกี่ยวกับการปรับโครงสร้างราคาค่าไฟฟ้า ขณะนี้อยู่ระหว่างขั้นตอนของการศึกษา และภายใต้กรอบการศึกษาดังกล่าว กกพ.จะยึดแนวทางการดำเนินการตามมติคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) โดยจะต้องคำนึงถึงความเหมาะสมกับลักษณะโครงสร้างเศรษฐกิจและสังคม สะท้อนถึงต้นทุนทางเศรษฐศาสตร์ เพื่อส่งเสริมให้การใช้ไฟฟ้าอย่างคุ้มค่าและมีการให้บริการอย่างมีประสิทธิภาพ โดยจะมีการแยกต้นทุนของแต่ละกิจการ ได้แก่ กิจการผลิต กิจการระบบส่ง กิจการระบบจำหน่าย และกิจการค้าปลีก อย่างชัดเจนและโปร่งใสชัดเจนสามารถตรวจสอบได้ ซึ่งมีการจำแนกต้นทุนแต่ละกิจการตามพื้นที่อย่างน้อยในระดับภาคภูมิศาสตร์
“การทบทวนหรือปรับปรุงโครงสร้างค่าไฟฟ้านั้น อยู่ในขั้นตอนการศึกษาและเป็นไปตามนโยบายของ กพช. ที่เห็นชอบนโยบายโครงสร้างค่าไฟฟ้าของประเทศไทย จะต้องมีความเหมาะสมกับลักษณะโครงสร้างเศรษฐกิจและสังคม และส่งเสริมความเสมอภาคของประชาชนในภูมิภาค โดยเป็นอัตราเดียวกันสำหรับผู้ใช้ไฟฟ้าประเภทเดียวกัน (Uniform Tariff) ยกเว้นธุรกิจบนเกาะ และผู้ใช้ไฟฟ้าที่เชื่อมโยงกับโครงข่ายระบบไฟฟ้าระหว่างประเทศ"นายวีระพล กล่าว
นายวีระพล กล่าวว่า กกพ.ยืนยันว่า กระบวนการทำงานของ กกพ. ตั้งอยู่บนพื้นฐานของการรับฟังความคิดเห็น ข้อเสนอแนะ ดังนั้น ในการกำหนดนโยบายเพื่อการกำกับดูแลภาคพลังงาน กกพ.มีกระบวนการรับฟังความคิดเห็นและข้อเสนอแนะ (Hearing) ทุกครั้ง ก่อนที่จะมีการประกาศนโยบายสำคัญ เช่นเดียวกับการกำกับปรับโครงสร้างค่าไฟฟ้าอย่างเป็นทางการ ก็จะต้องมีกระบวนการรับฟังความคิดเห็นจากภาคส่วนที่เกี่ยวข้องด้วยเช่นกัน
อนึ่ง กกพ.คาดว่าจะประกาศใช้โครงสร้างค่าไฟฟ้าใหม่ตั้งแต่ปี 61-65 โดยปัจจุบันโครงสร้างค่าไฟฟ้า ประกอบด้วย ค่าไฟฟ้าฐานที่ระดับ 3.7556 บาท/หน่วย และค่าเอฟที อยู่ที่ -15.90 สตางค์/หน่วย ทำให้ค่าไฟฟ้าเฉลี่ยผู้ใช้ไฟฟ้าทุกประเภทอยู่ที่ 3.5966 บาท/หน่วย (ไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม)