พาณิชย์’ เผยพฤติกรรมผู้บริโภคสินค้าทางออนไลน์เริ่มปรับตัวสร้างเกราะป้องกันตัวเองมากขึ้น มองหาเครื่องหมายรับรองความน่าเชื่อถือบนหน้าเว็บไซต์ ก่อนตัดสินใจเลือกซื้อสินค้าหรือบริการ หวังตัดไฟแต่ต้นลม...ไม่ต้องปวดหัวกับเว็บเถื่อนที่ไม่มีตัวตน ไม่รอช้า...พาณิชย์ปรับเกณฑ์การขอใช้เครื่องหมายรับรองความน่าเชื่อถือ DBD Registered จากเดิมไม่มีกำหนดเวลา ลดระยะเวลาเหลือ 5 ปี แล้วต้องมาขอต่ออายุการใช้เครื่องหมายฯ ใหม่ เพื่อให้สอดรับกับกระแสการเปลี่ยนแปลงของธุรกิจออนไลน์ที่เกิดขึ้นตลอดเวลา และสร้างความเชื่อมั่นแก่ผู้บริโภค หวังสร้างมาตรฐานอี-คอมเมิร์ซไทยให้เป็นที่ยอมรับ พร้อมกระตุ้นพ่อค้า-แม่ค้าออนไลน์แสดงตัวตนใส่ใจลูกค้ามากขึ้น ผู้ซื้อได้สินค้าตรงตามความต้องการ-ไม่ถูกเอาเปรียบ
นางสาวบรรจงจิตต์ อังศุสิงห์ อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ขณะนี้พฤติกรรมของผู้บริโภคสินค้าทางออนไลน์เริ่มมีการปรับตัวในการสร้างเกราะป้องกันตัวเองมากขึ้น โดยก่อนการตัดสินใจเลือกซื้อสินค้าหรือบริการจะมีการมองหาเครื่องหมายรับรองความน่าเชื่อถือที่ติดอยู่บนหน้าเว็บไซต์เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้แก่ตนเอง และเพื่อป้องกันปัญหาต่างๆ ที่อาจะเกิดขึ้น เช่น สินค้าไม่ตรงตามความต้องการ คุณภาพสินค้าไม่ได้มาตรฐาน ไม่ได้รับสินค้า หรือไม่สามารถติดต่อผู้ขายได้ เนื่องจากเครื่องหมายรับรองความน่าเชื่อถือที่ติดอยู่บนหน้าเว็บไซต์จะแสดงถึงสถานะและตัวตนของเจ้าของเว็บไซต์ได้เป็นอย่างดี มีแหล่งที่มาที่ไปที่ชัดเจน สามารถติดต่อผู้ค้าได้ตลอดเวลา ทำให้การเลือกซื้อสินค้าและบริการมีความมั่นใจ ดังนั้น ผู้บริโภคทางออนไลน์จึงหันมาใส่ใจและให้ความสำคัญต่อเครื่องหมายรับรองความน่าเชื่อถือมากยิ่งขึ้น นับเป็นสิ่งที่ดีที่ผู้บริโภคให้ความสำคัญกับความมีตัวตนของเว็บไซต์ ซึ่งเป็นองค์ประกอบสำคัญก่อนการตัดสินใจเลือกซื้อสินค้าหรือบริการ รวมทั้ง จะส่งผลให้ผู้ค้าทางออนไลน์ตระหนักถึงการแสดงความมีตัวตนที่ชัดเจนก่อนการประกอบธุรกิจด้วย
นอกจากนี้ กรมฯ ในฐานะที่เป็นผู้อนุญาตและออกเครื่องหมายรับรองความน่าเชื่อถือ DBD Registered แก่เว็บไซต์ที่จดทะเบียนพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์อย่างถูกต้อง ได้มีการปรับเกณฑ์การอนุญาตให้ใช้เครื่องหมายรับรองฯ ใหม่ ตาม “ข้อบังคับว่าด้วยการใช้เครื่องหมายรับรองผู้ประกอบธุรกิจพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ DBD Registered ของกรมพัฒนาธุรกิจการค้า พ.ศ.2560" ซึ่งมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 22 พฤษภาคม 2560 ที่ผ่านมา เพื่อให้สอดรับกับกระแสการเปลี่ยนแปลงของธุรกิจออนไลน์ที่เกิดขึ้นตลอดเวลา รวมทั้ง ให้ร้านค้าออนไลน์ที่ได้รับอนุญาตให้ใช้เครื่องหมายรับรองฯ ได้มีการปรับปรุงสถานะของตนเอง ทั้งสินค้า สถานที่ติดต่อ หมายเลขโทรศัพท์ และสาระสำคัญอื่นๆ ให้เป็นปัจจุบัน ซึ่งผู้บริโภคสามารถตรวจเช็คสถานะของผู้ขายได้ก่อนการเลือกซื้อสินค้าหรือบริการ โดยได้กำหนดระยะเวลาการอนุญาตให้ใช้เครื่องหมายรับรองความน่าเชื่อถือ DBD Registered เหลือ 5 ปี นับตั้งแต่วันที่ได้รับเครื่องหมายฯ หลังจากครบ 5 ปีแล้ว ต้องมาขอต่ออายุการอนุญาตให้ใช้เครื่องหมายรับรองฯ ใหม่ จากเดิมที่ไม่มีการกำหนดระยะเวลาการอนุญาตให้ใช้เครื่องหมายรับรองฯ แต่อย่างใด
“สำหรับผู้ประกอบการที่ได้รับอนุญาตให้ใช้เครื่องหมาย DBD Registered ก่อนข้อบังคับฯ มีผลบังคับใช้ (วันที่ 22 พฤษภาคม 2560) อนุโลมให้นับวันที่ 22 พฤษภาคม 2560 เป็นวันแรกของการอนุมัติใช้เครื่องหมายฯ และอยู่ต่อไปอีก 5 ปี"
อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กล่าวเพิ่มเติมว่า “การปรับลดระยะเวลาการอนุญาตฯ จะเป็นการช่วยยกระดับการสร้างความเชื่อมั่นให้แก่ผู้บริโภคเพิ่มขึ้นอีกขั้นหนึ่ง เป็นการสร้างมาตรฐานธุรกิจอี-คอมเมิร์ซของไทยให้เป็นที่ยอมรับทั้งในและต่างประเทศ และมีมาตรฐานเทียบเท่าสากล รวมทั้ง กระตุ้นให้พ่อค้า-แม่ค้าออนไลน์มีการแสดงตัวตนที่ชัดเจนมากยิ่งขึ้น สามารถบ่งบอกได้ถึงความจริงใจ ความซื่อสัตย์ และความเอาใจใส่ต่อลูกค้า ส่งผลให้ผู้ซื้อสินค้าเกิดความพึงพอใจ และมีความเชื่อมั่นต่อการเลือกซื้อสินค้าหรือบริการ และท้ายที่สุดก็จะส่งผลต่อยอดขายของผู้ขายที่เพิ่มสูงขึ้นด้วยเช่นกัน อย่างไรก็ตามถึงแม้ว่าเครื่องหมาย DBD Registered จะมีอายุ 5 ปี แต่ในทางปฏิบัติกรมฯ จะมีการตรวจสอบความคงอยู่ของเว็บไซต์ที่ได้รับเครื่องหมายฯ ทุกปี เพื่อให้ได้ข้อมูลที่เป็นปัจจุบันที่สุด "
ปัจจุบัน มีร้านค้าออนไลน์ที่ได้รับอนุญาตให้ใช้เครื่องหมายรับรองความน่าเชื่อถือ DBD Registered จำนวนทั้งสิ้น 27,000 เว็บไซต์ โดยกรมฯ ได้ตั้งเป้าหมายที่จะกระตุ้นให้ผู้ประกอบการขอรับอนุญาตใช้เครื่องหมายรับรองฯ ให้ได้ครบ 60,000 ราย ภายในปี 2561 นี้