ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ร่วมมือกับ บมจ. ปตท. (PTT) ทำพิธีลงนามความร่วมมือ "ปตท. - ธ.ก.ส. รวมพลัง ร่วมใจช่วยเกษตรกร" โดยจัดพื้นที่ในสถานีบริการน้ำมัน ปตท. เพื่อเพิ่มช่องทางจำหน่ายสินค้าและผลผลิตให้เกษตรกร ระบายผลผลิตตามฤดูกาล สร้างโอกาสให้ผู้ผลิตได้จำหน่ายสินค้าสู่ผู้บริโภคโดยตรง อำนวยความสะดวกให้ผู้บริโภคสามารถเลือกซื้อได้ง่ายขึ้น
นายอรรถพล ฤกษ์พิบูลย์ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ หน่วยธุรกิจน้ำมัน PTT กล่าวว่า บันทึกความร่วมมือ "ปตท. - ธ.ก.ส. รวมพลัง ร่วมใจช่วยเกษตรกร" ในครั้งนี้ ปตท.ได้สนับสนุนการจัดพื้นที่จำหน่ายสินค้าและผลผลิตทางการเกษตรของลูกค้า ธ.ก.ส. ณ สถานีบริการ ปตท. โดยคัดเลือกสถานีบริการ และกำหนดระยะเวลาจัดจำหน่ายอย่างเหมาะสม ซึ่ง ธ.ก.ส.เป็นผู้คัดเลือกสินค้าและผลผลิตทางการเกษตรของ ธ.ก.ส.เพื่อวางจำหน่ายในพื้นที่ของสถานีบริการ ที่กำหนดไว้
อีกทั้งให้มีการเปิดสาขาและสำนักงานตัวแทนของ ธ.ก.ส.และการวางเครื่องให้บริการด้านการเงินการธนาคารอัตโนมัติ (Self Service) ในสถานีบริการ ปตท.เพื่ออำนวยความสะดวกแก่ประชาชนและให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่ทุกภาคส่วน นอกจากนี้ ยังร่วมมือจัดทำโครงการเพื่อสังคมและสิ่งแวดล้อมร่วมกัน เช่น การให้ความรู้แก่เกษตรกรในการใช้น้ำมันหล่อลื่นสำหรับเครื่องจักรกลทางการเกษตร โดย ปตท.จะให้การสนับสนุนวิทยากรในการอบรมทั้งทฤษฏีและปฏิบัติ ตลอดจนให้การสนับสนุนงบประมาณดำเนินโครงการอีกด้วย
ด้านนายสมศักดิ์ กังธีระวัฒน์ รองผู้จัดการ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) กล่าวว่า ความร่วมมือครั้งนี้นับเป็นการต่อยอดในการดำเนินงานร่วมกันเพื่อช่วยเกษตรกรนับตั้งแต่ พ.ศ. 2555 ที่ ธ.ก.ส. ดำเนินงานร่วมกับ ปตท. โดยให้เกษตรกรลูกค้าเติมน้ำมันผ่านบัตรสินเชื่อเกษตรกรที่สถานีบริการน้ำมัน ปตท. สามารถช่วยลดต้นทุนการผลิตด้านน้ำมันเชื้อเพลิง ลดการใช้เงินสดสร้างความสะดวกและปลอดภัยให้เกษตรกรลูกค้าเป็นอย่างดี ความร่วมมือในครั้งนี้จะเติมเต็ม Value chain ของผลิตผลทางการเกษตรครบวงจร คือ การผลิตซึ่งเป็นต้นน้ำ การแปรรูปซึ่งเป็นกลางน้ำ จนถึงช่องทางการจำหน่ายหรือการตลาดซึ่งเป็นปลายน้ำ เพื่อพัฒนาชนบทด้วยระบบเศรษฐกิจที่เข้มแข็งสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีของคนไทยอย่างมั่นคงและยั่งยืน
"ธ.ก.ส. เชื่อมั่นในศักยภาพของ ปตท. เนื่องจากสถานีบริการน้ำมันของ ปตท. ซึ่งตั้งครอบคลุมพื้นที่ทั่วประเทศ หากเปิดให้เกษตรกรมีช่องทางในการจำหน่ายผลิตผลของตนเองจะสามารถระบายผลผลิตทางการเกษตรตามฤดูกาล ผลิตภัณฑ์แปรรูปที่มีคุณภาพได้มาตรฐานจากเกษตรกรและกลุ่มวิสาหกิจชุมชนต่างๆจำหน่ายโดยตรงจากผู้ผลิตถึงผู้บริโภค สอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาล" นายสมศักดิ์กล่าว
นอกจากนี้ ธ.ก.ส. จะพัฒนาช่องทางในการชำระค่าสินค้า เพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่ผู้ซื้อและผู้ขาย ผ่านแอพพลิเคชั่น ธ.ก.ส. A – Mobile และระบบ QR Code ซึ่งผู้ขายมี QR Code ของตนเอง ผู้ซื้อเพียงแต่มีเงินฝากในบัญชี เมื่อจ่ายชำระค่าสินค้าเพียงใช้โทรศัพท์มือถือ (Smart Phone ) สแกน QR Code ของผู้ขายเท่านั้น ไม่ต้องพกพาเงินสดตอบรับสังคมยุคใหม่ (Cashless Society)
โดยในวันนี้ ธ.ก.ส. ได้นำตัวอย่างสินค้า SME เกษตร ได้แก่ ผัก ผลไม้ Organic กระยาสารท ข้าวไรซ์เบอร์รี่ กล้วยอินทรีย์ มะพร้าวน้ำหอม ซึ่งมีการนำ QR Code ที่ ธ.ก.ส. สนับสนุนมาใช้เพิ่มช่องทางในการจ่ายชำระค่าสินค้า เพื่ออำนวยความสะดวก รวดเร็วและปลอดภัยมาจัดแสดงด้วย ความร่วมมือนี้จะส่งผลให้เกษตรกรและชุมชนในภาคชนบทมีช่องทางการตลาด สร้างรายได้เพิ่มมากขึ้น ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจระดับฐานรากและพัฒนาวงการเกษตรไทย