ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB EIC) ระบุว่า ผลการนับคะแนนในคืนวันเลือกตั้งที่ 24 ก.ย. (ตามเวลาเยอรมนี) เผยว่าพรรค Christian Democratic Union (CDU) และ Christian Social Union in Bavaria (CSU) ของ Angela Merkel มีคะแนนเสียงรวมกันเป็นอันดับ 1 ที่ 32.8%
ขณะที่คู่แข่งสำคัญอย่างพรรค Social Democratic Party (SPD) ของ Martin Schulz ผู้มีแนวคิดสนับสนุน EU เช่นเดียวกันกับ Angela Merkel ได้รับคะแนนเสียงเป็นอันดับที่ 2 ที่ 20.4% โดยผลการเลือกตั้งสอดคล้องกับที่ตลาดคาดการณ์และผลโพลก่อนการเลือกตั้ง อีกทั้งยังชี้ว่าชาวเยอรมนีจำนวนมากยังคงให้การสนับสนุน Angela Merkel ให้เป็นเสาหลักของเยอรมนีและ EU ต่อไป
ชัยชนะของ Angela Merkel ตอกย้ำความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุนอย่างต่อเนื่อง สะท้อนผ่านค่าเงินยูโรที่แข็งค่าขึ้นและส่วนต่างระหว่างผลตอบแทนพันธบัตรเยอรมนีและพันธบัตรสหรัฐฯ ที่ลดลงนับตั้งแต่การเลือกตั้งผู้นำฝรั่งเศสในรอบสุดท้าย ทั้งนี้ ผลตอบรับจากตลาดการเงินภายหลังผลการเลือกตั้งไม่ผันผวนมากนักและตอบสนองในทางบวกเนื่องจากพรรคตัวเต็งสำคัญทั้งสองฝ่ายต่างมีแนวคิดสนับสนุน EU ทั้งสิ้น อีกทั้งคะแนนเสียงของพรรค AfD ซึ่งมีแนวคิดต่อต้าน EU ไม่ได้สูงเกินกว่าที่ผลโพลเบื้องต้นชี้ไว้มากนัก
สำหรับผลการเลือกตั้งเยอรมนีที่เป็นไปตามคาดช่วยเสริมความเชื่อมั่นให้เศรษฐกิจยูโรโซนเติบโตได้ต่อเนื่องในปี 2560 ชัยชนะของ Angela Merkel ตอกย้ำมุมมองเชิงบวกต่อเศรษฐกิจยูโรโซน โดยเฉพาะการคลายความกังวลต่อกระแสต่อต้านโลกาภิวัตน์ในประเทศที่มีเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดในยูโรโซนอย่างเยอรมนี และการสานต่อนโยบายและการปฏิรูป EU ที่จะเป็นผลดีต่อเศรษฐกิจ ยูโรโซนในระยะยาว
ทั้งนี้ SCB EIC มองว่าปัจจัยดังกล่าวจะสนับสนุนให้เศรษฐกิจยูโรโซนเติบโตได้ต่อเนื่องที่ 1.9% ในปี 2560 เพิ่มสูงขึ้นจาก 1.7% ในปี 2559 และจะสนับสนุนให้ความต้องการสินค้าส่งออกจากไทยไปยูโรโซนเติบโตได้อย่างต่อเนื่อง โดยไทยมีสัดส่วนในการส่งออกไปยังกลุ่มประเทศดังกล่าวถึง 12% ของส่งออกทั้งหมด นำโดย เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์ และส่วนประกอบ รถยนต์ อุปกรณ์ และส่วนประกอบ อัญมณีและเครื่องประดับ
สำหรับความเสี่ยงหลักของเศรษฐกิจยูโรโซนในปี 2560 คือการเลือกตั้งผู้นำในประเทศหลักทั้ง เยอรมนี ฝรั่งเศส เนเธอร์แลนด์ หรือแม้กระทั้ง UK ท่ามกลางความนิยมของพรรคต่อต้าน EU ที่เพิ่มสูงขึ้นต่อเนื่อง และกระแสต่อต้านโลกาภิวัตน์ที่ปะทุทั่วโลก
อย่างไรก็ดี ผลการเลือกตั้งต่างออกมาว่าประชาชนส่วนมากยังเชื่อมั่นใน EU ซึ่งทำให้ฝ่ายสนับสนุน EU ในประเทศดังกล่าวยังคงได้รับตำแหน่งผู้นำต่อเนื่องไปอีก 4 ปี
"ระยะเวลา 4 ปีข้างหน้านับว่ามีความสำคัญต่อฝ่ายสนับสนุน EU เป็นอย่างมาก เนื่องจากหากผู้นำสามารถปฎิรูปให้ EU แข็งแกร่งขึ้นและสร้างความเชื่อมั่นต่อสหภาพให้กลับมาได้อีกครั้งก็จะสร้างความมั่นคงให้กับสหภาพ ในทางกลับกัน หากการปฏิรูปไม่เป็นผลสำเร็จหรือมีความวุ่นวายเกิดขึ้นอีก เช่น ปัญหาผู้อพยพ หนี้เสียของภาคธนาคารในอิตาลี หรือวิกฤติหนี้กรีซ อาจทำให้คะแนนนิยมของพรรคต่อต้าน EU เพิ่มขึ้นอีกได้ รวมถึงอาจสร้างความแตกร้าวและเป็นจุดจบของการใช้เงินสกุลยูโรร่วมกันใน EU" SCB EIC ระบุ
นอกเหนือจากการเจรจา Brexit ความเสี่ยงจากปัจจัยด้านการเมืองต่อเศรษฐกิจยูโรโซนที่ยังคงมีอยู่คือการเลือกตั้งผู้นำอิตาลีที่จะมีขึ้นก่อนเดือน พ.ค.61 โดยผลสำรวจ ณ เดือน ก.ย.60 ชี้ว่าพรรคที่ต้อต้าน EU อย่าง 5-Star Movement (M5S) กำลังมีคะแนนนิยมนำมาเป็นอันดับ 1 ที่ 27.6% ขณะที่พรรค PD ของอดีตนายกรัฐมนตรี Matteo Renzi มีคะแนนเสียงลดลงอยู่ที่ 26.8% ขณะที่ปัญหาเศรษฐกิจที่เรื้อรังของอิตาลี โดยเฉพาะภาคธนาคาร ส่งผลให้คะแนนนิยมของพรรค M5S เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ซึ่งหากพรรค M5S สามารถครองเสียงข้างมากและจัดตั้งรัฐบาลได้ ย่อมมีการผลักดันให้เกิดการลงประชามติเพื่อถอนตัวออกจาก EU ในระยะต่อไป