ฟิทช์ ชี้ภาษีสรรพสามิตใหม่กระทบธุรกิจเบียร์มากกว่าสุรา,กดดันกำไรเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์

ข่าวเศรษฐกิจ Monday September 25, 2017 17:03 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

บริษัท ฟิทช์ เรทติ้งส์ ระบุว่าภาษีสรรพสามิตใหม่ของไทยน่าจะส่งผลกระทบต่อผู้ผลิตเบียร์ในประเทศมากกว่าผู้ผลิตสุรา เนื่องจากตลาดเบียร์มีการแข่งขันที่สูงกว่าและความต้องการซื้อของผู้บริโภคมีความอ่อนไหวต่อราคาค่อนข้างสูง นอกจากนี้ ผู้ผลิตเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ก็น่าจะได้รับผลกระทบจากการจัดเก็บภาษีบนปริมาณน้ำตาลเป็นครั้งแรกเช่นกัน

ฟิทช์คาดว่าผู้ผลิตเบียร์ในประเทศจะได้รับแรงกดดันจากภาระภาษีที่สูงขึ้นจากโครงสร้างภาษีใหม่ เนื่องจากความสามารถในการส่งต่อต้นทุนภาษีที่สูงขึ้นไปยังผู้บริโภคและรักษาระดับอัตรากำไรไว้นั้น ขึ้นอยู่กับมูลค่าภาษีที่เพิ่มขึ้นและกำลังซื้อของผู้บริโภคว่าจะสามารถรองรับระดับราคาที่ปรับขึ้นได้มากน้อยเพียงใด

นอกจากระดับราคาแล้ว อุปสงค์ของเบียร์ยังมีความอ่อนไหวต่อภาวะเศรษฐกิจและเทศกาลรื่นเริงในประเทศ ปริมาณการซื้อขายเบียร์ของไทยมีความผันผวนค่อนข้างมากในช่วงสิบปีที่ผ่านมา โดยลดลงร้อยละ 9 ในปี 2552 จากการชุมนุมทางการเมืองและการปรับขึ้นภาษีสรรพสามิต ลดลงร้อยละ 14 ในปี 2554 จากเหตุการณ์น้ำท่วม ลดลงร้อยละ 5 ในปี 2556 หลังจากการปรับโครงสร้างภาษีสรรพสามิต โดยอ้างอิงตัวเลขจากสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม

ฟิทช์มองว่าโครงสร้างภาษีใหม่น่าจะส่งผลกระทบต่อปริมาณการขายของผู้ผลิตสุราภายในประเทศไม่มากนัก แม้ว่าสุราจะมีภาระภาษีส่วนเพิ่มสูงขึ้นตามปริมาณแอลกอฮอล์ที่สูงเมื่อเทียบกับเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ชนิดอื่น ตลาดสุราในประเทศไทยมีผู้ผลิตน้อยร้าย โดยผู้ผลิตรายใหญ่ที่สุดคือ บมจ.ไทยเบฟเวอเรจ (อันดับเครดิต BBB / AA+(tha) / แนวโน้มเครดิตมีเสถียรภาพ) มีส่วนแบ่งตลาดร้อยละ 90 โดยวัดจากปริมาณการขาย การแข่งขันในตลาดที่มีอยู่อย่างจำกัดประกอบกับความยืดหยุ่นต่อราคาที่ค่อนข้างต่ำของอุปสงค์สุราที่ผลิตในประเทศ น่าจะเป็นปัจจัยสนับสนุนผลการดำเนินงานของผู้ผลิตสุราในประเทศในช่วงสามถึงสี่ปีข้างหน้า นอกจากนี้ ผู้ผลิตที่มีการจำหน่ายสินค้าที่หลากหลาย ในแง่ของระดับแอลกอฮอล์หรือระดับราคา สามารถเสนอตัวเลือกให้แก่ผู้บริโภคในการปรับเปลี่ยนการบริโภคสุราให้ตรงกับกำลังซื้อในแต่ละช่วงเวลา

ปริมาณการซื้อขายสุรา โดยแสดงจากปริมาณการขายสุราของผู้ผลิตรายใหญ่ในประเทศ ค่อนข้างมีเสถียรภาพในช่วงสิบปีที่ผ่านมา แม้จะมีการปรับขึ้นภาษีสรรพสามิตหลายครั้ง โดยมีอัตราการเติบโตเฉลี่ยสะสมประมาณร้อยละ 2 ต่อปี ในช่วงปี 2549-2559 ทั้งนี้ ในขณะที่รายได้สุทธิ (หลังหักภาษีสรรพสามิต) จากการจำหน่ายสุราในรอบสิบปีดังกล่าว มีอัตราการเติบโตเฉลี่ยสะสมที่สูงกว่า อยู่ที่ร้อยละ 6 ต่อปี สะท้อนให้เห็นถึงความสามารถในการปรับขึ้นราคาโดยไม่ส่งผลกระทบต่อปริมาณการขาย

ลักษณะของตลาดเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ที่มีสินค้าหลากหลายชนิด มีสินค้าที่ทดแทนกันได้จำนวนมาก และมีการแข่งขันที่สูง จำกัดความสามารถของผู้ผลิตในการส่งต่อต้นทุนที่เพิ่มขึ้นไปยังผู้บริโภค ซึ่งเป็นเหตุให้ผู้ผลิตเหล่านี้น่าจะได้รับผลกระทบจากภาระภาษีที่สูงขึ้นค่อนข้างมากเมื่อรัฐบาลจัดเก็บภาษีเครื่องดื่มแบบเต็มรูปแบบ ซึ่งน่าจะเป็นช่วงปลายปี 2562

อย่างไรก็ตาม ในช่วงระยะเวลาสองปีที่รัฐบาลผ่อนปรนการเก็บภาษี ผู้ผลิตสามารถที่จะหาวิธีลดภาระภาษีได้ โดยการปฏิบัติตามนโยบายของรัฐบาลที่จะลดปริมาณน้ำตาลในเครื่องดื่ม หรืออาจใช้สิ่งให้ความหวานแทนน้ำตาล โดยวิธีการเหล่านี้จะส่งผลให้ผู้ผลิตมีค่าใช้จ่ายในการพัฒนาสินค้าและค่าใช้จ่ายทางการตลาดเพิ่มสูงขึ้น ซึ่งอาจจะส่งผลกระทบต่ออัตรากำไรของธุรกิจได้


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ