นายบัณฑูร ล่ำซำ ประธานกรรมการ และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารกสิกรไทย (KBANK) กล่าวในงานสัมมนา Transforming Thailand ในหัวข้อ "การขับเคลื่อนไทยสู่เศรษฐกิจใหม่ Thailand 4.0"ว่า ภาครัฐควรที่จะเริ่มปรับตัวให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงของสภาวะการเปลี่ยนแปลงของโลกที่เทคโนโลยีและนวัตกรรมเริ่มมีบทบาทมากขึ้น และมีผลต่อการบริหารและการแข่งขันของแต่ละประเทศ หากไม่สามารถปรับตัวได้ทันจะส่งผลกระทบต่อประชาชน ซึ่งไม่เป็นผลดีต่อประเทศ โดยสิ่งที่ภาครัฐควรทำ คือ การปฏิรูปประเทศ เพื่อช่วยยกระดับให้ประเทศไทยเข้าสู่ยุค 4.0
ด้านภาคเอกชนก็ต้องมีการปรับตัวด้วยเช่นเดียวกัน เพื่อความอยู่รอดของผู้ประกอบการแต่ละราย เพราะปัจจุบันเทคโนโลยีมีผลต่อการเปลี่ยนแปลงของการดำเนินงานต่าง ๆ ให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของผู้ประกอบการแต่ละราย
การนำเทคโนโลยีมาใช้ในการบริหารจัดการมีผลช่วยในด้านการจัดการข้อมูลต่าง ๆ การลดต้นทุน และการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน ผู้ประกอบการขนาดเล็กและกลางควรที่จะปรับตัวและนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้เพื่อเสริมสร้างศักยภาพ และสามารถแข่งขันกับผู้ประกอบการรายใหญ่ได้ โดยหากยังไม่มีการเปลี่ยนแปลงตามภาวะของตลาด จะส่งผลให้ผู้ประกอบการแต่ละรายได้รับผลกระทบและทยอยเลิกกิจการไปในที่สุด
“ปัจจุบันเราอยู่ในโลกของทุนนิยมที่มีการแข่งขันตลอดเวลา การปฎิรูปเป็นสิ่งที่ทุกคนจะต้องพูดถึง และควรจะทำ โดยเฉพาะภาครัฐ เพราะหากภาครัฐไม่มีการปฏิรูปจะส่งผลกระทบต่อประชาชนในประเทศ แต่เรื่องนี้ไม่มีใครกล้าที่จะเปลี่ยน เพราะอาจไปกระทบกับผลประโยชน์ส่วนตัว และการเมืองที่มีอยู่รอบตัว"นายบัณฑูร กล่าว
นายอุตตม สาวนายน รมว.อุตสาหกรรม กล่าวในงานสัมมนาดังกล่าวว่า ภาครัฐได้พยายามผลักดันการปฏิรูประเทศไทย เพื่อช่วยยกระดับขีดความสามารถทางการแข่งขันของประเทศ โดยมีโครงการที่เสริมศักยภาพให้กับประเทศไทย โดยเฉพาะโครงการพัฒนาระเบียงเขตเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EEC) ที่จะมีการส่งเสริมการลงทุนของอุตสาหกรรมใหม่ ๆ ที่สามารถช่วยผลักดันและยกระดับประเทศไทยไปสู่การเป๊นไทยแลนด์ 4.0 ได้
อุตสาหกรรมเป้าหมายที่เชื่อมโยงโครงการ EEC โดยตรง ได้แก่ โครงการรถยนต์ที่เป็นการนำไปสู่รถยนต์ไฟฟ้า ซึ่งได้มีการแสดงความสนใจลงทุนจากผู้ประกอบการที่จะลงทุน รวมถึงผู้ประกอบการรายใหม่ที่จะเข้ามาลงทุนรถยนต์ไฟฟ้า, อุตสาหกรรมหุ่นยนต์ ที่จะมีการลงทุนจากภาคเอกชนในปี 61 โดยมีเม็ดเงินลงทุนมูลค่า 1.2 หมื่นล้านบาท รวมถึงอุตสาหกรรมเครื่องมือแพทย์หรือการดูแลสุขภาพที่ขณะนี้ได้รับข้อเสนอเบื้องต้นจากนักลงทุนญี่ปุ่นที่สนใจลงทุนใน EEC แล้ว
นอกจากนี้ รัฐบาลคาดหวังจะให้นักลงทุนทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศเป็นผู้จัดหาเงินลงทุนเป็นหลัก ซึ่งปัจจุบันมีกลุ่มนักลงทุนที่ให้ความสนใจเป็นจำนวนมาก เช่น นักลงทุนจากญี่ปุ่น จีน ยุโรป และสหรัฐฯ โดยเฉพาะนักลงทุนญี่ปุ่นที่ขณะนี้ได้แสดงความสนใจอย่างมากในการลงทุนในอุตสาหกรรมรถยนต์ที่จะมุ่งไปสู่รถยนต์ไฟฟ้าและรถยนต์ไฮบริด ซึ่งมีจำนวน 2 ราย วงเงินลงทุนรวม 2 หมื่นล้านบาท
ทั้งนี้ ความคืบหน้าของการผลักดันร่าง พ.ร.บ.เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรือ ร่างพ.ร.บ. EEC จะเข้าสู่การพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) วาระแรกในวันที่ 28 ก.ย.ที่จะถึงนี้ และคาดว่าร่าง พ.ร.บ.EEC จะมีผลบังคับใช้ไม่เกินสิ้นปีนี้