นายสมชัย สัจจพงษ์ ปลัดกระทรวงการคลัง เปิดเผยกรณีราชกิจจานุเบกษาเผยแพร่ประกาศธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เรื่องรายชื่อธนาคารพาณิชย์ที่มีนัยต่อความเสี่ยงเชิงระบบในประเทศปี 60 ว่า ปัจจุบันธนาคารขนาดใหญ่มีการสำรองสูงกว่ามาตรฐาน BIS Ratio เกิน 7.5% ซึ่งปรับเพิ่มตามประกาศใหม่ไปนานแล้ว การดำเนินการของ ธปท. เป็นการปรับเกณฑ์ให้เป็นไปตามหลักสากล ในการเตรียมความพร้อมการกำกับดูแลสถาบันการเงินมากขึ้น โดยไม่ได้เป็นการออกเกณฑ์ เพื่อแก้ปัญหา
"ประชาชนอาจจะมีความแตกตื่น หลังจากที่มีการประกาศออกมา ทำให้มีการกระจายข่าวออกไป ซึ่งยังมีการประชาสัมพันธ์ไม่มากพอ"ปลัดกระทรวงการคลัง กล่าว
พร้อมระบุว่า การประกาศดังกล่าวเพื่อกำกับดูแลสถาบันการเงินขนาดใหญ่ 5 แห่ง คือ ธนาคารกรุงเทพ ธนาคารกรุงไทย ธนาคารไทยพาณิชย์ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา ธนาคารกสิกรไทย ซึ่งแสดงให้เห็นว่าธนาคารในกลุ่มนี้มีผลต่อระบบเศรษฐกิจไทย ดังนั้น การจะดำเนินการใด ๆ จะต้องมีความระมัดระวัง
อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมาธนาคารขนาดใหญ่ก็มีฐานะการเงินที่แข็งแกร่ง ไม่ได้มีปัญหา ขณะที่ธนาคารพาณิชย์ขนาดเล็กก็มีการสำรองเกินเกณฑ์ 7.5% ส่วนจะมีการบังคับให้เท่ากับธนาคารใหญ่หรือไม่นั้น ต้องขึ้นอยู่กับการพิจารณาของ ธปท.
ด้านนางฤชุกร สิริโยธิน รองผู้ว่าการ ด้านเสถียรภาพสถาบันการเงิน ธปท.กล่าวว่า การประกาศใช้แนวทางการกำกับดูแลธนาคารพาณิชย์ที่มีนัยต่อความเสี่ยงเชิงระบบในประเทศ (Domestic systemically important banks : D-SIBs) เป็นการเพิ่มขั้นต่ำอัตราการดำรงเงินกองทุนชั้นที่ 1 หรือกันสำรองขั้นต้นจาก 6.5% เป็น 7.5% สำหรับธนาคารที่เข้าเกณฑ์ความสำคัญ 4 ด้าน ตามที่มาตรฐานสากล บาร์เซล 3 (Basel III) คือ 1.ขนาดและปริมาณธุรกรรมใหญ่ 2.ความเชื่อมโยงในทำธุรกรรมมีมาก 3.เป็นผู้ให้บริการหลักในโครงสร้างพื้นฐานของระบบการเงิน 4.ความซับซ้อนของผลิตภัณฑ์ทางการเงินมาก
ทั้งนี้ สถาบันการเงินในไทยที่เข้าเกณฑ์ดังกล่าว มี 5 ธนาคาร ประกอบด้วย ธนาคารกรุงเทพ (BBL) ธนาคารกรุงไทย (KTB) ธนาคารกรุงศรีอยุธยา (BAY) ธนาคารกสิกรไทย (KBANK) และธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB) ซึ่งเป็นธนาคารที่มีความสำคัญเชิงระบบ
การเพิ่มขั้นต่ำการกันสำรองดังกล่าว จะเป็นการสร้างความเชื่อมั่นและความแข็งแกร่งของสถาบันการเงินภายในประเทศให้มากขึ้น ไม่มีผลกระทบต่อเงินฝากของประชาชน และไม่กระทบต่อการดำเนินงานของสถาบันการเงินดังกล่าว รวมทั้งไม่ต้องเพิ่มอัตราส่วนการกันสำรองเงินกองทุนเพิ่ม เพราะปัจจุบันสถาบันการเงินทั้ง 5 แห่ง กันสำรองไว้ที่ระดับ 14-15% ซึ่งสูงกว่าขั้นต่ำที่กำหนดไว้อยู่แล้ว แต่สาเหตุที่ต้องประกาศใช้ตอนนี้ เพราะเป็นจังหวะที่เหมาะสม เนื่องจากสถาบันการเงินมีความแข็งแกร่ง และมีเงินกองทุนอยู่ในระดับที่สูงอยู่แล้ว จึงมีความพร้อมเพียงพอรองรับดำรงเงินกองทุนส่วนเพิ่มจากการใช้หลักเกณฑ์ดังกล่าว
ขณะที่สถาบันการเงินอื่นที่ไม่เข้าเกณฑ์ D-SIBs ก็ยังคงดำรงเงินกองทุนตามขั้นต่ำที่หลักเกณฑ์กำหนดไว้ จึงไม่มีผลกระทบหรือน่าเป็นห่วงเกี่ยวกับระบบสถาบันการเงินของไทยแต่อย่างใด นอกจากนี้ เกณฑ์ดังกล่าวเป็นไปตามมาตรฐานสากล เพราะทั้ง สิงคโปร์ ฟิลิปปินส์ ออสเตรเลีย และเยอรมัน ก็ประกาศใช้เกณฑ์ดังกล่าวเพื่อดูแลความเข้มแข็งของสถาบันการเงินเช่นกัน
ด้านนายสมบูรณ์ จิตเป็นธม ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายสถาบันการเงิน ธปท. กล่าวว่า ตามหลักเกณฑ์ดังกล่าว ธนาคารทั้ง 5 แห่ง จะต้องเพิ่มการดำรงเงินกองทุนชั้นที่ 1 โดยทยอยดำรงเพิ่มขึ้น 0.5% ในปี 62 และเพิ่ม 1% ในปี 63 และธนาคารทั้ง 5 แห่ง จะต้องมีการรายงานข้อมูลและสถานะของธนาคารถี่ขึ้นเป็นประจำทุกเดือน จากปกติที่จะรายงานเป็นรายไตรมาส
ทั้งนี้ ยังไม่พบการเคลื่อนย้ายเงินฝากจาก 5 ธนาคารดังกล่าว แต่ ธปท.จะติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด ซึ่งต่างประเทศที่ใช้หลักเกณฑ์ดังกล่าวก่อนหน้านี้ ก็ไม่มีผลกระทบเรื่องดังกล่าวเช่นกัน เพราะเกณฑ์นี้ถือเป็นเกณฑ์ที่ช่วยเพิ่มความเข้มแข็งให้กับสถาบันการเงิน