คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ปรับประมาณการอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจของไทยในปีนี้เพิ่มเป็น 3.8% จากเดิม 3.5% หลังเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มขยายตัวได้ชัดเจนขึ้นจากการส่งออกสินค้าและบริการที่ปรับดีขึ้น รวมทั้งอุปสงค์ในประเทศที่ฟื้นตัวต่อเนื่องและเริ่มกระจายตัวมากขึ้น
พร้อมปรับประมาณการมูลค่าการส่งออกของไทยในปีนี้เพิ่มขึ้นเป็น 8% จากเดิมที่ 5% โดยมองว่าการส่งออกขยายตัวดีขึ้นสอดคล้องกับการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกที่เข้มแข็งมากขึ้น
ขณะเดียวกันได้ปรับประมาณการเศรษฐิจไทยนปี 2561 เป็นเพิ่มขึ้น 3.8% เช่นเดียวกัน จากเดิม 3.7%
นายจาตุรงค์ จันทรังษ์ เลขานุการ กนง.เปิดเผยว่า ที่ประชุม กนง.ประเมินว่าเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มขยายตัวได้ดีกว่าที่ประเมินไว้ นับตั้งแต่ไตรมาส 2/60 โดยปรับประมาณการขยายตัวเศรษฐกิจไทยในปี 60 เพิ่มขึ้นเป็น 3.8% จากเดิมที่คาดการณ์ไว้ก่อนหน้าที่ 3.5% และคาดว่าจะขยายตัวได้ต่อเนื่องที่ 3.8% ในปี 61 จากเดิมที่คาดการณ์ไว้ 3.7% ซึ่งเป็นผลมาจากภาคส่งออกที่ขยายตัวได้ดี โดยคาดว่าปีนี้การส่งออกจะขยายตัวได้ 8% จากเดิม 5% และขยายตัวเป็น 3.2% ในปี 61 จากเดิม 1.7%
อย่างไรก็ตาม อัตราเงินเฟ้อทั่วไปมีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้นแต่ในอัตราที่ชะลอกว่าที่ประมาณการ จากปัจจัยด้านอุปทานโดยเฉพาะราคาอาหารสด ขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานไม่ได้เปลี่ยนแปลงมาก ส่วนภาวะการเงินทั่วไปยังอยู่ในระดับที่ผ่อนคลาย จึงเห็นว่านโยบายการเงินในระดับปัจจุบันมีส่วนช่วยสนับสนุนการขยายตัวของเศรษฐกิจและเอื้อให้อัตราเงินเฟ้อทั่วไปกลับเข้าสู่กรอบเป้าหมายได้ หรือเข้าสู่กรอบล่างได้ภายในช่วงกลางปี จากเดิมที่คาดว่าจะเข้าสู่กรอบภายในต้นปี 61 จึงควรต้องมีการคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้
“เศรษฐกิจไทยยังฟื้นตัวได้ดีและดีกว่าที่คาดโดยปรับขึ้นมาอยู่ที่ 3.8% จากการส่งออกสินค้าและบริการที่ปรับตัวดีขึ้น ดอกเบี้ยก็อยู่ในระดับที่ผ่อนคลายแล้ว และเป็นครั้งแรกที่ กนง.เห็นว่า ความเสี่ยงต่อการประมาณการเศรษฐกิจปรับสมดุลมากขึ้นในระยะสั้น หมายถึงยังไม่เห็นปัจจัยที่จะส่งผลให้เศรษฐกิจชะลอตัว"นายจาตุรงค์ กล่าว
สำหรับการบริโภคภาคเอกชนยังขยายตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป เช่นเดียวกันกับการลงทุนภาคเอกชนที่ปรับตัวดีขึ้นในหลายธุรกิจและมีแนวโน้มขยายตัวที่ดี โดยคาดว่าในปี 60 จะขยายตัวที่ 2.3% จากเดิมที่ 1.7% แต่ในส่วนของการลงทุนภาครัฐ ปรับลดลงเหลือ 5% จากเดิม 7.7% แม้ว่าที่ผ่านมาภาคการคลังจะเป็นตัวขับเคลื่อนผ่านการลงทุนภาครัฐ แต่ก็เริ่มมีทิศทางชะลอลงบ้างในระยะสั้นจากที่เร่งเบิกจ่ายไปก่อนหน้า เม็ดเงินลงทุนในโครงการที่เตรียมไว้ทยอยเบิกจ่ายได้ช้าลง แต่ก็ไม่ได้มีผลกระทบมากเนื่องจากไม่ได้มีการปรับลดวงเงินลง
นายจาตุรงค์ กล่าวว่า ในที่ประชุม กนง.ไม่ได้มีการพูดถึงประเด็นการไหลเข้าของเงินทุนเป็นพิเศษ ซึ่งก็เป็นปัจจัยที่กระทบทั้งภูมิภาค ขณะที่ค่าเงินบาทเมื่อเทียบกับสกุลประเทศคู่ค้าก็ไม่ได้เปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญ หรือกระทบความสามารถในการแข่งขันและการขยายตัวของการส่งออก แต่ในระยะต่อไปก็ยังมีความผันผวนที่จะต้องติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด ขณะที่การพิจารณาอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) คาดว่าในปีนี้จะมีการปรับขึ้นอีก 1 ครั้ง ซึ่งตลาดมีการคาดการณ์อยู่แล้ว จึงไม่น่าจะมีปัจจัยให้แตกตื่น