นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ตั้งแต่หลังวันที่ 20 ก.ย.แนวโน้มค่าเงินบาทที่อ่อนค่าลงเป็นการอ่อนค่าตามค่าเงินในภูมิภาค หลังจากที่ธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ส่งสัญญาณการดูดซับสภาพคล่อง โดยจะทยอยลดขนาดสินทรัพย์ลงเฉลี่ย 1 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ/เดือน หรือ 1 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ/ปี และจะเริ่มปรับเพิ่มการลดขนาดสินทรัพย์เป็น 5 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หลังเดือนต.ค. 61 ซึ่งการส่งสัญญาณของเฟดในครั้งนี้ส่งผลให้ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯกลับมาแข็งค่าขึ้น และเงินบาทเริ่มอ่อนค่าลง จากที่ในช่วงต้นปีที่ผ่านมาค่าเงินบาทได้แข็งค่าขึ้น 7-8% เพราะการอ่อนค่าของค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯ แต่หลังจากวันที่ 20 ก.ย. เป็นต้นมา ดอลลาร์ได้กลับมาแข็งค่าหลังจากการส่งสัญญาณของเฟด และปัจจัยดังกล่าวจะเป็นจุดเริ่มต้นของการกลับข้างที่ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯจะเริ่มกลับมาแข็งค่าขึ้น และยังเชื่อว่าเฟดจะขึ้นอัตราดอกเบี้ยในการประชุมครั้งต่อไปในเดือนธ.ค. 60 ซึ่งจะเป็นการขึ้นอัตราดอกเบี้ยครบ 3 ครั้งในปีนี้ "ค่าเงินดอลลาร์ที่แข็งค่าขึ้นและทำให้ค่าเงินบาทอ่อนค่าลง ส่งผลต่อความผ่อนคลายแรงกดดันในการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายจากคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ในการประชุมเดือนพ.ย. เพราะแนวโน้มค่าเงินค่าเริ่มเห็นสัญญาณการอ่อนค่าลง ทำให้มองว่า กนง.จะยังไม่จำเป็นที่ต้องใช้การลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย และยังคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายอยู่ที่ 1.5% ต่อปีต่อไป"นายกอบศักดิ์ กล่าว