(เพิ่มเติม) สศค. ชี้เศรษฐกิจไทยเดือนส.ค.ขยายตัวได้ดีจากภาคส่งออกที่เป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญ

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday September 28, 2017 12:17 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ระบุว่า เศรษฐกิจไทยในเดือน ส.ค.60 ยังคงได้รับแรงขับเคลื่อนสำคัญจากการส่งออกสินค้าที่ขยายตัวในระดับสูงอย่างต่อเนื่องที่ 13.2% ต่อปี ซึ่งเป็นการขยายตัวสูงสุดในรอบ 55 เดือน ประกอบกับการใช้จ่ายภาคเอกชนที่ยังขยายตัวได้ดี โดยเฉพาะการบริโภคและการลงทุนในเครื่องมือเครื่องจักรช่วยสนับสนุนให้การเติบโตมีความมั่นคงมากขึ้น สอดคล้องกับเศรษฐกิจไทยด้านการผลิตที่ยังคงขยายตัวได้ในอัตราเร่งโดยเฉพาะอย่างยิ่งดัชนีผลผลิตสินค้าเกษตรและจำนวนนักท่องเที่ยวจากต่างประเทศ

นายกฤษฎา จีนะวิจารณะ ผู้อำนวยการ สศค.ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า เครื่องชี้เศรษฐกิจด้านการใช้จ่ายเพื่อการบริโภคภาคเอกชนยังขยายตัวได้ดี สะท้อนจากภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ราคาคงที่ ในเดือน ส.ค.60 ขยายตัว 14.7% ต่อปี และเป็นการขยายตัวสูงสุดในรอบ 54 เดือน (นับตั้งแต่ ม.ค.56) ส่วนปริมาณการจำหน่ายรถยนต์นั่งขยายตัว 8.5% ต่อปี ซึ่งนับเป็นการขยายตัวต่อเนื่องติดต่อกันเป็นเดือนที่ 8 สำหรับปริมาณนำเข้าสินค้าอุปโภคบริโภค ขยายตัวต่อเนื่อง 6.0% ต่อปี และเมื่อปรับผลทางฤดูกาลออกขยายตัว 3.9% ต่อเดือน

นอกจากนี้ ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเกี่ยวกับเศรษฐกิจโดยรวมเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้าอยู่ที่ระดับ 62.4 เป็นการปรับตัวเพิ่มขึ้นครั้งแรกในรอบ 4 เดือน เนื่องจากผู้บริโภคคาดหวังว่าเศรษฐกิจไทยในอนาคตจะปรับตัวดีขึ้นตามแนวโน้มการส่งออกและการท่องเที่ยวที่ขยายตัวได้ดี อีกทั้งมีโครงการลงทุนภาครัฐที่จะช่วยขับเคลื่อนให้เศรษฐกิจขยายตัวได้ดีขึ้นในช่วงที่เหลือของปี

เครื่องชี้เศรษฐกิจด้านการลงทุนภาคเอกชนขยายตัวได้ดีในหมวดเครื่องมือเครื่องจักร สะท้อนจากปริมาณนำเข้าสินค้าทุนขยายตัวต่อเนื่องที่ 5.5% ต่อปี ขณะที่ปริมาณจำหน่ายรถยนต์เชิงพาณิชย์ ขยายตัวที่ 5.8% ต่อปี และขยายตัว 2.8% ต่อเดือน จากยอดจำหน่ายรถกระบะขนาด 1 ตัน

ในขณะที่การลงทุนในหมวดก่อสร้าง สะท้อนจากปริมาณจำหน่ายปูนซีเมนต์ภายในประเทศกลับมาขยายตัวในระดับสูงที่ 6.1% ต่อปี สูงสุดในรอบ 17 เดือน (นับตั้งแต่เดือน มี.ค.59) และขยายตัว 4.2% ต่อเดือน สำหรับดัชนีราคาวัสดุก่อสร้าง ขยายตัวต่อเนื่องที่ 3.2% ต่อปี

ด้านมูลค่าการส่งออกสินค้าขยายตัวในระดับสูงอย่างต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 6 ติดต่อกัน โดยเติบโต 13.2% ต่อปี สูงสุดในรอบ 55 เดือน และขยายตัว 7.3% ต่อเดือน ทั้งนี้ หมวดสินค้าสำคัญที่สนับสนุนการส่งออก เช่น ทองคำ อัญมณีและเครื่องประดับ เกษตรกรรม อิเล็กทรอนิกส์ ผลิตภัณฑ์ยาง เป็นต้น ขณะที่ประเทศคู่ค้าที่ขยายตัวได้ดี เช่น อาเซียน-9 จีน ญี่ปุ่น สหรัฐอเมริกา เป็นต้น สำหรับมูลค่าการนำเข้า ขยายตัวต่อเนื่องที่ 14.9% ต่อปี โดยกลุ่มสินค้าที่สนับสนุนการขยายตัวของการนำเข้า เช่น วัตถุดิบและกึ่งสำเร็จรูป เชื้อเพลิง ทองคำ สินค้าทุน และสินค้าอุปโภคบริโภค เป็นต้น ในขณะที่ดุลการค้า เกินดุลจำนวน 2.1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ

นายกฤษฎา กล่าวว่า เครื่องชี้เศรษฐกิจไทยด้านการผลิตได้รับปัจจัยสนับสนุนจาก ดัชนีผลผลิตสินค้าเกษตรและจำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศที่ขยายตัวได้ต่อเนื่อง โดยดัชนีผลผลิตสินค้าเกษตร ขยายตัวต่อเนื่องที่ 17.1% ต่อปี โดยเป็นการขยายตัวได้ดีของหมวดพืชผลสำคัญ อาทิ ข้าวโพด กลุ่มไม้ผล ได้แก่ ลำไย เงาะ และมังคุด ตามฤดูกาลเก็บเกี่ยว รวมทั้งผลผลิตข้าวเปลือกที่ได้รับอานิสงส์จากการเหลื่อมเดือนเพาะปลูก และเหลื่อมเดือนเก็บเกี่ยว

สำหรับจำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศที่เดินทางเข้าประเทศไทยมีจำนวน 3.13 ล้านคน ขยายตัวเร่งขึ้นเป็น 8.7% ต่อปี และขยายตัว 1.5% ต่อเดือน โดยเป็นนักท่องเที่ยวที่ขยายตัวได้ดีจากจีน มาเลเซีย เกาหลี และอินเดีย เป็นสำคัญ นอกจากนี้ ดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรม (TISI) อยู่ที่ระดับ 85.0 ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากระดับ 83.9 ในเดือนก่อนหน้า และเป็นการปรับเพิ่มขึ้นครั้งแรกในรอบ 5 เดือน โดยได้รับปัจจัยบวกจากความเชื่อมั่นในกลุ่มอุตสาหกรรมขนาดกลางและขนาดใหญ่เป็นหลัก ตามภาวะคำสั่งซื้อ ยอดขาย และปริมาณการผลิตที่เพิ่มขึ้น

ด้านเสถียรภาพเศรษฐกิจภายในประเทศยังอยู่ในเกณฑ์ดี และเสถียรภาพภายนอกอยู่ในระดับที่มั่นคง สะท้อนจากอัตราเงินเฟ้อทั่วไปและอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานที่ 0.3% และ 0.5% ต่อปี ตามลำดับ สำหรับอัตราการว่างงานอยู่ที่ 1.1% ของกำลังแรงงานรวม ขณะที่สัดส่วนหนี้สาธารณะต่อ GDP ณ สิ้นเดือน ก.ค.60 อยู่ที่ระดับ 41.8% ซึ่งอยู่ภายใต้กรอบความยั่งยืนทางการคลังที่ตั้งไว้ไม่เกิน 60% ส่วนเสถียรภาพภายนอกยังมั่นคงและสามารถรองรับความเสี่ยงจากความผันผวนของเศรษฐกิจโลกได้ สะท้อนจากทุนสำรองระหว่างประเทศ ณ สิ้นเดือน ส.ค.60 อยู่ที่ระดับ 196.9 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ มากกว่าหนี้ต่างประเทศระยะสั้น 3.5 เท่า


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ