ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB EIC) เตรียมปรับคาดการณ์เศรษฐกิจไทยปี 60 อีกรอบในเดือนพ.ย.นี้ น่าจะขยายตัวได้มากกว่าเดิมที่คาดไว้ 3.6% แต่คงไม่ถึง 4% เนื่องจากการส่งออกของไทยคาดว่าจะขยายตัวได้สูงกว่า 7% ดีกว่าคาด แต่ยังปัจจัยกดดันจากการบริโภคในประเทศที่ชะลอตัว
นายพชรพจน์ นันทรามาศ ผู้อำนวยการเศรษฐกิจมหภาค SCB EIC เปิดเผยว่า EIC เตรียมปรับประมาณการณ์อัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจ (GDP) ของไทยในปี 60 เพิ่มขึ้นอีกรอบในเดือนพ.ย.นี้ โดยจะสูงกว่าประมาณการณ์เดิมที่ปรับใหม่มาที่ 3.6% แต่คงยังไม่สามารถขยายตัวได้ถึง 4% โดยมีปัจจัยหนุนมาจากการส่งออกที่ขยายตัวได้สูงกว่าคาด จากการฟื้นตัรของเศรษฐกิจโลก โดยเฉพาะเศรษฐกิจในประเทศใหญ่ เช่น สหรัฐฯ ยุโรป และญี่ปุ่น ที่หนุนให้การส่งออกกลับมาเติบโตได้โดดเด่น
อีกทั้งในปีนี้ยังมีปัจจัยหนุนจากการเริ่มส่งออกของกลุ่มอุสาหกรรมจากต่างประเทศบางกลุ่มที่ได้ย้ายฐานการผลิตเข้ามาในประเทศไทยช่วงก่อนหน้านี้เริ่มทำการส่งออกในปีนี้เป็นปีแรก เช่น กลุ่มอุตสาหกรรมผลิตยา ซึ่งเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ผลักดันการส่งออกไทยเติบโตได้สูง และทำให้การส่งออกในช่วง 8 เดือนที่ผ่านมาเติบโตสูงถึง 11% ซึ่งทางอีไอซีจะเตรียมปรับประมาณการณ์การขยายตัวของการส่งออกไทยปีนี้อีกรอบเพิ่มขึ้นมากกว่า 7% แต่ยังไม่ถึง 10% ซึ่งจะต้องรอดูการประกาศตัวเลขเศรษฐกิจจากสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือ สภาพัฒน์ฯมาประกอบการพิจารณาอีกครั้งก่อน
อย่างไรก็ตาม แม้ว่าการล่งออกจะมีการเติบโตที่ดี แต่ปัจจัยที่ยังคงกดดันการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยที่ยังส่งผลให้ GDP ปีนี้ไม่สามารถเติบโตได้ถึง 4% คือ การบริโภคในประเทศที่ยังชะลอตัวอย่างต่อเนื่อง จากกำลังซื้อของครัวเรือนในประเทศที่ยังไม่ดีขึ้นตามกำลังซื้อจากต่างประเทศ แม้ว่าการใช้จ่ายของผู้มีรายได้สูงจะค่อนข้างดี สะท้อนจากยอดขายสินค้าคงทนโดยเฉพาะรถยนต์นั่งที่มีอัตราการเติบโตสูง แต่การใช้จ่ายของผู้มีรายได้ปานกลางถึงรายได้น้อยยังคงซบเซา
โดยจะเห็นได้จากรายจ่ายในสินค้าจำเป็นอย่างอาหารและเครื่องดื่มที่ชะลอตัว ซึ่งเป็นไปตามทิศทางของรายได้เกษตรกรที่ลดลงจากช่วงครึ่งปีแรก ในขณะที่รายได้นอกภาคเกษตรมีแนวโน้มทรงตัวในระดับต่ำ ทำให้การบริโภคในประเทศปีนี้ขยายตัวเพียง 3.1% และจะขยายตัวลดลงมาอยู่ที่ 2.7% ในปี 61 อีกทั้งยังมองว่าภาคครัวเรือนไทยยังมีแนวโน้มที่จะชะลอการก่อหนี้ใหม่ เพราะยังมีภาระหนี้เดิมในระดับสูงประกอบกับมีการปรับมาตรการควบคุมสินเชื่อบัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคลตามขั้นรายได้ใหม่ที่เริ่มมีผลตั้งแต่ไตรมาส 3/60 ป็นต้นไป
ด้านเศรษฐกิจไทยในปี 61 คาดว่าจะเติบโต 3.5% จากแรงหนุนการลงทุนทั้งรัฐและเอกชน นอกจากการลงทุนก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมขนส่งของภาครัฐแล้ว และยังเห็นหลายสัญญาณที่ส่งผลให้ภาคเอกชนน่าจะมีการลงทุนเพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัดในปี 61 ทั้งจากภาคอุตสาหกรรมส่งออกที่มีอัตราการใช้กำลังการผลิตเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง จากความสนใจของต่างชาติที่จะลงทุนในโครงการระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EEC)
และจากการบุกตลาดผู้บริโภคไทยของกลุ่มธุรกิจอีคอมเมิร์ซที่จะนำไปสู่ความต้องการการลงทุนในด้านต่างๆ เช่น การขนส่ง การเก็บและกระจายสินค้า การเก็บและวิเคราะห์ข้อมูล เป็นต้น อย่างไรก็ดี ประเด็นการขาดแคลนแรงงานจากการปรับตัวรับ พรก. แรงงานต่างด้าวฉบับใหม่ และกำลังซื้อของครัวเรือนไทยส่วนใหญ่ที่ยังชะลอตัว เป็นปัจจัยหลักที่อาจจะส่งผลกระทบต่อการลงทุนในปี 61 ได้
“เศรษฐกิจไทยในปี 61 ยังไม่เติบโตแบบร้อนแรง ทำให้เรายังเมองว่า กนง. จะยังคงดอกเบี้ยที 1.5% ไปถึงปี 61 แม้ว่าอัตราดอกเบี้ยสหรัฐฯจะปรับขึ้นก็ตาม ขณะที่ค่าเงินบาทปี 61 คาดว่าจะเคลื่อนไหว 33.50-34.50 บาท/ดอลลาร์สหรัฐฯ จากปีนี้อยู่ที่ 33.50-34.00 บาท/ดอลลาร์สหรัฐฯ"นายพชรพจน์ กล่าว
EIC แนะให้ภาคธุรกิจทำความเข้าใจรูปแบบเศรษฐกิจและธุรกิจในบริบทใหม่จากการเติบโตของผู้บริโภคยุคดิจิทัล ตลาดผู้บริโภคยุคดิจิทัลกำลังเติบโตอย่างรวดเร็วในประเทศไทย รวมถึงในกลุ่มประเทศอาเซียน อินเดีย และจีน ซึ่งเมื่อเชื่อมโยงกันแล้วจะมีฐานผู้บริโภคกว่า 3,000 ล้านคน จึงมีศักยภาพที่จะสร้างโอกาสและมูลค่าให้แก่ธุรกิจได้อย่างมหาศาล EIC มองว่าธุรกิจอีคอมเมิร์ซจะมีแนวโน้มขยายตัวเด่นชัดทั้งในฝั่งของผู้ให้บริการและฐานผู้บริโภคในปี 61 และประเมินว่าโมเดลธุรกิจที่เน้นผู้บริโภคเป็นศูนย์กลางและตอบสนองความต้องการตรงจุดแก่ผู้บริโภคจะมีความสำคัญต่อการเติบโตของธุรกิจในระยะต่อไป