นายกอบสิทธิ์ ศิลปชัย ผู้บริหารงานวิจัยเศรษฐกิจและตลาดทุน ธนาคารกสิกรไทย (KBANK) เปิดเผยว่า ธนาคารคาดว่าอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจไทย (GDP) ในปีนี้ขยายตัวได้ถึง 4% สูงกว่าประมาณการเดิมที่ 3.4% โดยมีปัจจัยหนุนจากภาคการส่งออกที่เติบโตมากกว่าคาด ซึ่งมองว่าสามารถขยายตัวได้ถึง 7% จากเดิม 3.8% และมีผลต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยอย่างมีนัยสำคัญ เพราะมูลค่าการส่งออกของไทยคิดเป็น 70% ของผลผลิตมวลรวมในประเทศ
นอกจากนี้ ภาพการท่องเที่ยวที่มีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง และเติบโตได้ดี รวมทั้งมีการจับจ่ายใช้สอยของนักท่องเที่ยวต่างชาติในสัดส่วนที่สูงถึง 22% หนุนภาพรวมของเศรษฐกิจไทยยังมีทิศทางที่ดี
อย่างไรก็ตาม ธนาคารคงมีความกังวลเกี่ยวกับปัจจัยกดดันจากการบริโภคในประเทศที่ยังชะลอตัวต่อเนื่อง เพราะหนี้สินครัวเรือนยังอยู่ในระดับสูงเกือบ 80% และการกระจายรายได้ไปยังกลุ่มประชาชนฐานรากยังไม่ทั่วถึง ทำให้เกิดการชะลอการจับจ่ายใช้สอย ประกอบกับการลงทุนภาคเอกชนยังไม่เกิดขึ้นอย่างชัดเจน ทำให้การขับเคลื่อนการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยยังต้องพึ่งพาการส่งออกเป็นหลัก
"เศรษฐกิจไทยยังมีปัญหาทางด้านโครงสร้างที่ไม่สมดุล เพราะดูจากดุลบัญชีเดินสะพัดต่อจีดีพียังสูงเป็นอันดับ 4 ของโลก เป็นสิ่งที่บ่งบอกถึงการที่เราพึ่งพาการส่งออกและการท่องเที่ยวมากจนเกินไป อีกทั้งการกระจายรายได้ยังลงไปไม่ถึงคนฐานราก และอีกสิ่งที่เป็นปัจจัยที่ทำให้เกิดการชะลอการจับจ่าย คือ รายได้ต่อภาษีของไทยที่ยังสูงในระดับ 16.7% รองจากประเทศเวียดนาม แสดงให้เห็นว่าคนไทยทำงานเพื่อจ่ายภาษีคิดเป็น 80% ของชั่วโมงทำงานในแต่ละวัน ส่งผลต่อภาคครัวเรือนที่ระมัดระวังการจับจ่ายใช้สอยมากขึ้น"นายกอบสิทธิ์ กล่าว
ธนาคารประเมินว่าภาครัฐมีโอกาสใช้นโยบายกระตุ้นการจับจ่ายใช้สอยของประชาชนหลังเดือน ต.ค.นี้ เพื่อกระตุ้นให้ภาคการบริโภคกลับมาฟื้นตัว โดยจะเป็นมาตรการด้านภาษีเช่นเดียวกับปีก่อนที่มีคาดว่ามาตรการที่เกี่ยวข้องกับภาษี เพราะประเทศไทยยังมีความยืดหยุ่นทางด้านภาษีค่อนข้างมาก ซึ่งมาตรการกระตุ้นการบริโภคไนประเทศที่จะออกมาคาดว่าจะคล้ายกับมาตรากรที่ออกมาในช่วงปลายปี 59 คือ มาตรการช็อปช่วยชาติ และอาจจะเห็นการเน้นการกระจายรายได้ไปยังชุมชนเล็กๆ ที่ไม่ใช่หัวเมืองใหญ่และหัวเมืองรอง มากขึ้นกว่าปัจจุบัน
ด้านอัตราแลกเปลี่ยนในปีนี้ธนาคารยังคาดว่าค่าเงินบาทจะอยู่ที่ 33.50 บาท/ดอลลาร์สหรัฐฯ ในสิ้นปีนี้ โดยธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้มีการออกมาตรการเพื่อชะลอการแข็งค่าของเงินบาทมากกว่า 5.8 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในช่วง 7 เดือนแรกของปีนี้ เพื่อทำให้ค่าเงินบาทไม่หลุดต่ำกว่าระดับ 33.00 บาท/ดอลลาร์ ซึ่งหากค่าเงินบาทหลุดต่ำกว่าระดับดังกล่าวจะส่งผลให้เกิดภาวะเงินเฟ้อต่ำกว่าปกติ และเป็นแรงกดดันให้คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) จะต้องปรับลดดอกเบี้ยในท้ายที่สุด
ส่วนทิศทางการเคลื่อนไหวของกระแสเงินทุนในช่วงที่เหลือของปีนี้ มองว่าจะเห็นเงินทุนไหลออกจากประเทศไทยไปเล็กน้อยในช่วงไตรมาส 4/60 เนื่องจากนักลงทุนเริ่มทยอยขายทำกำไรหลังจากทำกำไรได้ตามเป้าหมายแล้ว โดยเฉพาะเงินที่ไหลเข้าในตลาดพันธบัตรไทยก่อนหน้านี้ เป็นการปรับพอร์ตในช่วงปลายปีเพื่อกระจายความเสี่ยงไปยังสินทรัพย์อื่น ๆ ที่ให้ผลตอบแทนดีกว่า
ประกอบกับ คาดว่าธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จะปรับขึ้นดอกเบี้ยในช่วงเดือน ธ.ค.นี้ และจะเริ่มใช้มาตรการลดขนาดสินทรัพย์ตั้งแต่เดือน ต.ค.นี้ เป็นต้นไป ส่งผลต่อการเคลื่อนย้ายเงินลงทุนกลับไปยังสหรัฐฯ โดยปัจจัยดังกล่าวจะส่งให้ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯกลับมาแข็งค่าขึ้น และทำให้ผู้ประกอบการที่กู้เงินเป็นสกุลดอลลาร์สหรัฐมีต้นทุนเพิ่ม 0.4-0.5%
“ตอนนี้เรื่องของธนาคารกลางสหรัฐ ก็ถือว่าเป็นเรื่องที่มีความไม่แน่นอนในเรื่องของการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย แม้ว่าตลาดมองไปถึงการขึ้นดอกเบี้ยของสหรัฐฯในปีนี้ไปแล้ว 60-70% ว่าจะขึ้น แต่เมื่อไม่นานมานี้รองประธานเฟดได้ลาออก และตอนนี้ก็ยังไม่รู้ว่าประธานเฟดจะอยู่ต่อหรือไม่ เพราะหาก 2 ตำแหน่งนี้ว่าง ทรัมป์อาจจะส่งคนเข้าไปแทนใน 2 ตำแหน่งนี้ เพื่อให้นโยบายการเงินของสหรัฐฯเป็นไปตามนโยบายของทรัมป์ที่ยังไม่อยากให้ดอกเบี้ยขึ้นเร็วมาก เพื่อให้สหรัฐฯขาดดุลการค้า ซึ่งเรื่องนี้เป็นสิ่งที่ยังต้องติดตาม"นายกอบสิทธิ์ กล่าว