กระทรวงคมนาคม โดยสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) ชี้แจงกรณีที่มีกระแสการวิพากย์ วิจารณ์บทบาทของกระทรวงคมนาคมที่ให้วิศวกรของไทยเป็นผู้อบรม และตรวจสอบวิศวกรจากจีนที่จะเข้ามาวางระบบรถไฟความเร็วสูงในไทย ว่าเป็นการดำเนินการที่ไม่เหมาะสม เนื่องจากวิศวกรของไทยไม่มีประสบการณ์ด้านการสร้างรถไฟความเร็วสูง
นอกจากนี้ ยังมีการให้ดำเนินการสร้างเฟสแรกระยะทาง 3.5 กม. ตัดผ่านพื้นที่ป่าเขา ทำให้ต้องใช้รถบรรทุกอุปกรณ์การก่อสร้างหลายรอบ จึงเป็นการวางแผนที่เสียเวลาและมีค่าใช้จ่ายมหาศาล
กระทรวงคมนาคม ขอชี้แจงกระแสการวิพากย์ วิจารณ์ในเรื่องดังกล่าว ดังนี้
1. การจัดฝึกอบรมให้แก่วิศวกรจีนไม่ได้เป็นการอบรมความรู้ด้านระบบรถไฟความเร็วสูง แต่เป็นการอบรมความรู้ทั่วไปที่จำเป็นเกี่ยวกับการปฏิบัติงานในประเทศไทย เพื่อให้วิศวกรจีนเข้าใจสภาพพื้นที่ ข้อกำหนดทางกฎหมายด้านสิ่งแวดล้อมและข้อกำหนดในการปฏิบัติงานที่เกี่ยวข้อง (Local Conditions) ดังนี้
- ความรู้ด้านกฎหมายและจรรยาบรรณที่เกี่ยวกับพระราชบัญญัติวิศวกร จรรยาบรรณ ในการประกอบวิชาชีพวิศวกรรม และพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร
- ความรู้เกี่ยวกับสภาพทางธรรมชาติของประเทศไทยที่เกี่ยวกับการออกแบบและก่อสร้าง เช่น สภาพความแข็งแรงของชั้นดิน ธรณีวิทยา รอยเลื่อนที่มีโอกาสเกิดแผ่นดินไหว แรงลม อุณหภูมิของอากาศ ภัยพิบัติที่อาจเกิดขึ้น เช่น อุทกภัย วาตภัย รวมทั้งสภาพสิ่งแวดล้อมที่อาจได้รับผลกระทบจากการออกแบบ และก่อสร้างรถไฟ เป็นต้น
- ความรู้ด้านเทคนิคที่เกี่ยวกับความปลอดภัยในการทำงานและการจัดการความปลอดภัย วิศวกรรมความปลอดภัยด้านอัคคีภัย วิศวกรรมสิ่งแวดล้อมและมลภาวะ และการฝึกอบรมในครั้งนี้ยังเป็น การถ่ายทอดแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ร่วมกันระหว่างวิศวกรจีนกับวิศวกรไทยภายใต้โครงการความร่วมมือพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางรถไฟระหว่างประเทศไทยและสาธารณรัฐประชาชนจีน
2. การก่อสร้างรถไฟความเร็วสูงช่วงกรุงเทพฯ-นครราชสีมา ช่วงที่ 1 ระยะทาง 3.5 กิโลเมตร เป็น 1 ใน 4 ช่วงของแผนการออกแบบและก่อสร้าง ซึ่งช่วงที่ 1 ระยะทาง 3.5 กิโลเมตรนั้น สามารถออกแบบและก่อสร้างได้ทันที โดยไม่มีผลกระทบต่อประชาชน จากนั้นจะออกแบบและก่อสร้าง 3 ช่วงต่อไปตามลำดับ ดังนี้
- ช่วงที่ 2 กิโลเมตรที่ 214+000 ถึง 225+000 ระยะทาง 11 กิโลเมตร ช่วงสีคิ้ว-กุดจิก
- ช่วงที่ 3 กิโลเมตรที่ 119+000 ถึง 150+500, 154+000 ถึง 214+000, 225+000 ถึง 253+000 ระยะทาง 119.5 กิโลเมตร ช่วงแก่งคอย- นครราชสีมา
- ช่วงที่ 4 กิโลเมตรที่ 0+000 ถึง 119+000 ระยะทาง119 กิโลเมตร ช่วงบางซื่อ-แก่งคอย
ทั้งนี้ จนครบระยะทางตลอดโครงการตั้งแต่สถานีกลางบางซื่อถึงจังหวัดนครราชสีมารวม 253 กิโลเมตร