นายวีรศักดิ์ ศุภประเสริฐ รองผู้อำนวยการ สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) เปิดเผยว่า ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) เดือนส.ค.60 อยู่ที่ 112.94 ขยายตัว 3.74% เมื่อเทียบจากช่วงเดียวกันของปีก่อน (YOY) และเพิ่มขึ้น 3.77% เมื่อเทียบจากเดือนก่อน อัตราการใช้กำลังผลิต อยู่ที่ 62.46 ส่งผลให้ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม 8 เดือน ขยายตัว 1% ส่งสัญญาณการขยายตัวอย่างต่อเนื่องของเศรษฐกิจไทย เช่นเดียวกันกับการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรม (ไม่รวมทองคำแท่ง) ที่ขยายตัวถึง 8.50% รวมถึงการนำเข้าสินค้าทุนที่ขยายตัว 6.10% และการนำเข้าสินค้าวัตถุดิบและกึ่งสำเร็จรูป (ไม่รวมทองคำแท่ง) ที่ขยายตัวถึง 9.20%
สำหรับอุตสาหกรรมหลักที่ส่งผลให้ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) มีการขยายตัว ได้แก่ - เครื่องยนต์สำหรับรถยนต์ ขยายตัวเพิ่มขึ้น 38.39% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน จากผลิตภัณฑ์เครื่องยนต์ดีเซลที่ได้รับคำสั่งซื้อจากผู้ผลิตในประเทศเพื่อตอบสนองการผลิตรถยนต์ที่เพิ่มขึ้น รวมถึงการส่งออกต่างประเทศ โดยเฉพาะลูกค้าในกลุ่มประเทศ AEC (อินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์)
- รถยนต์ ขยายตัวเพิ่มขึ้น 11.28% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนจากผลิตภัณฑ์รถปิคอัพและรถยนต์นั่งความจุกระบอกสูบไม่เกิน 1,800 cc. เนื่องจากผู้ผลิตบางรายมีเปิดตัวรถยนต์รุ่นใหม่ และมีงานมหกรรมรถยนต์ Big motor sale กระตุ้นตลาดในประเทศเพิ่มขึ้นทำให้ปริมาณจำหน่ายในประเทศเพิ่มขึ้น 6.83% ส่วนการส่งออกรถยนต์ปรับเพิ่มขึ้น จากรถปิคอัพที่ส่งออกไปในตลาดกลุ่มอาเซียน
"เราคาดว่ารถยนต์อาจจะมีการปรับเป้าการผลิตอีกครั้งกลับมาที่ 2 ล้านคัน จากตลาดในประเทศยังขยายตัวดี" นายวีรศักดิ์ กล่าว
- ผลิตภัณฑ์ยาง ขยายตัวเพิ่มขึ้น 13.74% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน จากผลิตภัณฑ์ยางแผ่น โดยในปีนี้วัตถุดิบ (น้ำยาง) ออกสู่ตลาดมากขึ้นเนื่องจากสภาพอากาศที่ฝนตกตลอดปีส่งผลให้ต้นยางสมบูรณ์เต็มที่ รวมถึงหลายบริษัททำการขยายตลาดใหม่ได้มากขึ้น
- ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ ขยายตัวเพิ่มขึ้น 5.51% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ในผลิตภัณฑ์ PCBA รองลงมาเป็นสินค้า Other ICs เนื่องจากแนวโน้มความต้องการใช้ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ที่เป็นไปตามเทรนด์เทคโนโลยี IoT ที่เติบโตอย่างรวดเร็วต่อเนื่องจากปีก่อน
- น้ำมันปิโตรเลียม ขยายตัวเพิ่มขึ้น 7.44% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนจากผลิตภัณฑ์น้ำมันดีเซลหมุนเร็ว น้ำมันแก๊สโซฮอล์ 95 และน้ำมันเครื่องบิน เนื่องจากในปีก่อนโรงกลั่นมีการซ่อมบำรุงบางส่วน ทำให้กำลังการผลิตในสินค้าดังกล่าวของปีก่อนลดลง แต่ในปีนี้สามารถกลั่นได้ตามปกติ
อย่างไรก็ตาม ยังมีบางอุตสาหกรรมที่หดตัว ได้แก่ -เครื่องประดับ ปรับตัวลดลง 40.21% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากนโยบายการคืนสินค้าจากแฟรนไชส์ในสหรัฐฯ สภาพเศรษฐกิจที่ผันผวนและภัยก่อการร้ายที่เกิดขึ้นในหลายประเทศที่ส่งผลให้ผู้สั่งซื้อชะลอการนำเข้า
- เครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบ ปรับตัวลดลง 28.84% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากสภาพอากาศที่แปรปรวนและมีฝนตกอย่างต่อเนื่องในทุกภูมิภาค
- เหล็กและผลิตภัณฑ์เหล็ก ปรับตัวลดลง 6.17% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากประสบปัญหาเหล็กแผ่นเคลือบนำเข้าราคาถูกเข้ามาตีตลาดจำนวนมาก ถึงแม้ว่าราคาเหล็กจะมีทิศทางปรับตัวสูงขึ้น แต่ความต้องการใช้เหล็กเส้นเพื่อการก่อสร้างกลับมีน้อยลง เนื่องจากฝนที่ยังตกชุกในทุกภูมิภาคที่ทำให้การก่อสร้างล่าช้าด้วย
- การปั่นเส้นใยสิ่งทอ ปรับตัวลดลง 14.44% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากตลาดในประเทศประสบปัญหาการนำเข้าสินค้าราคาถูกมาจำหน่ายมากขึ้น ส่วนการส่งออกจะมีผู้ผลิตที่เป็นคู่แข่งในกลุ่มอาเซียนซึ่งได้รับสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากร (GSP) ในการส่งออกไปยุโรปและสหรัฐฯ ทำให้สินค้ามีราคาถูกกว่า
นายวีรศักดิ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า สศอ.จะยังไม่ปรับคาดการณ์ MPI ทั้งปี และ GDP ภาคอุตสาหกรรมทั้งปี โดยจะดูตัวเลขจนถึงเดือน ต.ค.ปีนี้ก่อน ซึ่งคาดว่าทุกอย่างจะกลับมาเป็นปกติหลังผ่านงานพระราชพิธี ประชาชนน่าจะกลับมาจับจ่ายใช้สอย บรรยากาศต่างๆช่วงปลายปีน่าจะคึกคักมากขึ้น อัตราการใช้กำลังผลิตช่วง 4 เดือนสุดท้ายน่าจะยังทำได้ในอัตรา 60 ซึ่งถือว่ามีประสิทธิภาพ
"เรายังคงเป้า GDP ภาคอุตสาหกรรมทั้งปีที่ 1-2% ส่วน MPI ทั้งปีที่ 0.5-1.5% ซึ่งหากให้ MPI ได้ 1.5% ช่วง 4 เดือนที่เหลือของปี MPI จะต้องขยายตัวเฉลี่ยเดือนละ 2.5% แต่ถ้าจะทะลุเป้าไปที่ 2% MPI จะต้องขยายตัวเฉลี่ย 4% ต่อเดือน"นายวีรศักดิ์ กล่าว