คลังเดินหน้า"ไทยแลนด์ฟิวเจอร์ฟันด์"แม้ สร.กกพ.ยื่นศาลปกครองค้าน ลุ้นยื่นไฟลิ่งภายในปีนี้

ข่าวเศรษฐกิจ Monday October 2, 2017 11:01 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายเอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) เปิดเผยว่า การจัดตั้งกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานเพื่ออนาคตประเทศไทย (ไทยแลนด์ฟิวเจอร์ฟันด์) ยังคงเดินหน้าตามกระบวนการ แม้ว่าที่ผ่านมาสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (สร.กทพ.) จะมีการยื่นเรื่องต่อศาลปกครองให้ดำเนินการระงับเรื่องนี้ แต่จนถึงขณะนี้ศาลยังไม่รับเรื่องดังกล่าว ทำให้กระบวนการจัดตั้งทั้งหมดยังเดินหน้าตามปกติ

กระบวนการปัจจุบันอัยการอยู่ระหว่างการตรวจสอบร่างสัญญาโอนและรับสิทธิโอนในรายได้ (RTA) โครงการทางพิเศษฉลองรัฐ (รามอินทรา-อาจณรงค์) และทางพิเศษบูรพาวิถี (บางนา-ชลบุรี) เพื่อโอนรายได้ในอนาคต 45% ให้กับกองทุนไทยแลนด์ฟิวเจอร์ฟันด์ เป็นเวลา 30 ปี ซึ่งก่อนหน้านี้ได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการ กทพ.เรียบร้อยแล้ว โดยระหว่างที่อัยการกำลังตรวจสอบร่างสัญญา RTA นั้น สคร. ก็จะประสานกับสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เพื่อเตรียมยื่นเอกสารขอเสนอขายหน่วยลงทุน (ไฟลิ่ง)

“ตอนนี้คงต้องรอดูว่าศาลปกครองจะรับเรื่องดังกล่าวหรือไม่ ดังนั้นในกระบวนการก็ยังคงเดินหน้าต่อไป แต่ถ้าท้ายที่สุดศาลไม่รับเรื่อง ก็คาดว่าจะยื่นไฟล์ลิ่งให้ ก.ล.ต.ได้ภายในปีนี้ ส่วนการเสนอขายหน่วยลงทุนอาจจะเลื่อนไปเป็นต้นปีหน้าจากเดิมคือปลายปีนี้ ส่วนหนึ่งเพราะปลายปีมีวันหยุดเยอะ ดังนั้นจึงดูความเหมาะสมเป็นหลัก และเมื่อมาพิจารณาความต้องการใช้เงินเพื่อลงทุนโครงการใหม่ของ กทพ. อยู่ในช่วงเดือน มี.ค. 2561 ดังนั้นก็ยังมีเวลาเพียงพอ" นายเอกนิติ กล่าว

นายเอกนิติ กล่าวอีกว่า ยอมรับว่าขณะนี้มีนักลงทุน กองทุนทั้งในและต่างประเทศ อาทิ กองทุนประกันสังคม และบริษัทประกันต่าง ๆ แสดงความสนใจซื้อหน่วยลงทุนค่อนข้างมาก แต่ตามหลักการแล้วจะมีการเปิดขายหน่วยลงทุนให้กับนักลงทุนรายย่อยก่อน ซึ่งเป็นนโยบายของนายกรัฐมนตรี โดยจะมีการกำหนดสัดส่วนผู้ลงทุนที่ชัดเจนอีกครั้ง

นอกจากนี้ จะต้องมีการเปิดรับฟังความคิดเห็นเกี่ยวกับร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การกำกับดูแลและบริหารรัฐวิสาหกิจ พ.ศ... (ร่าง พ.ร.บ. พัฒนารัฐวิสาหกิจ) ที่อยู่ระห่างการพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) วาระ 2 เพราะที่ผ่านมายังมีความไม่เข้าใจ หรือเข้าใจผิดเกี่ยวกับร่างกฎหมายดังกล่าวค่อนข้างมาก โดยเข้าใจไปว่ากฎหมายดังกล่าวจะเอื้อให้มีการแปรรูปรัฐวิสาหกิจแบบซ่อนเร้น จึงขอยืนยันว่าร่างกฎหมายดังกล่าวไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อแปรรูปรัฐวิสาหกิจทั้งทางตรงและทางอ้อม แต่กฎหมายนี้มีหลักในการปฏิรูปและยกระดับประสิทธิภาพการดำเนินงานของรัฐวิสาหกิจผ่านการส่งเสริมให้มีระบบธรรมาภิบาลที่ดี โปร่งใส มาใช้กำกับดูแลรัฐวิสาหกิจ

“จะต้องเปิดรับฟังความคิดเห็น และชี้แจงเพื่อสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับกฎหมายพัฒนารัฐวิสาหกิจอีกมาก เพราะยังมีความเข้าใจผิด ๆ ที่ว่ากฎหมายนี้จะเอื้อต่อการแปรรูปรัฐวิสาหกิจแบบซ่อนเร้น จะมีการเอาหุ้นที่รัฐถืออยู่ออกมาขายบ้าง ขณะที่การตั้งบรรษัทรัฐวิสาหกิจแห่งชาติก็ต้องชี้แจงเพื่อให้เกิดความชัดเจนมากขึ้นด้วย โดยขอยืนยันว่ากฎหมายฉบับนี้ไม่มีเจตนาเรื่องการแอบขายหุ้นแต่อย่างใด โดยในรายละเอียดของกฎหายจะมีกลไกสำหรับดำเนินการเรื่องนี้กำกับไว้อย่างชัดเจน" นายเอกนิติ กล่าว


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ