นายเจน นำชัยศิริ ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน (กกร.) ปรับคาดการณ์เศรษฐกิจไทยทั้งปี 60 น่าจะขยายตัว 3.7-4.0% จากเดิม 3.5-4.0% เนื่องจากปรับเพิ่มประมาณการการเติบโตของการส่งออกในปีนี้เป็น 6.5-7.5% จากเดิม 3.5-4.5%
สำหรับอัตราเงินเฟ้อนั้น แม้ว่าอัตราเงินเฟ้ออาจจะขยับขึ้นในไตรมาสสุดท้ายของปี แต่เมื่อพิจารณาค่าเฉลี่ยตลอดทั้งปีแล้ว คาดว่าคงจะไม่เกิน 1.0% ที่ประชุม กกร.จึงปรับกรอบคาดการณ์เป็น 0.5-1.0% จากเดิม 0.5-1.5%
นายเจน กล่าวว่าภาพรวมเศรษฐกิจของประเทศช่วง 9 เดือนที่ผ่านมามีทิศทางที่ดีขึ้น ยกเว้นจะมีเหตุรุนแรงที่เป็นปัจจัยลบเข้ามาในช่วง 3 เดือนที่เหลือ ส่วนการใช้จ่ายภาครัฐที่ขยายตัวลดลงในปีนี้คงต้องไปดูสาเหตุว่ามาจากฐานที่สูงในปีก่อน หรือมีอุปสรรคในเรื่องกฎระเบียบหรือไม่ หากมีก็ต้องมีการแก้ไข แต่ต้องไม่ส่งผลกระทบเรื่องความโปร่งใส
"เราเห็นว่าช่วง 9 เดือนที่ผ่านมีแนวโน้มที่ดีขึ้นต่อเนื่อง จึงปรับคาดการณ์ทั้งปี ยกเว้นจะมีเหตุการณ์สำคัญที่ส่งผลกระทบในช่วง 3 เดือนที่เหลือ" นายเจน กล่าว
ส่วนผลกระทบจากการออกกฎหมายเรื่องน้ำนั้น คงต้องรอดูในรายละเอียด ซึ่งภาคเอกชนได้จัดทำข้อเสนอแนะส่งไปให้ผู้เกี่ยวข้องได้พิจารณาแล้ว เพื่อให้กฎหมายที่ออกมาส่งผลในทางที่ดี
ด้านการเดินทางเยือนสหรัฐฯ ของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีนั้น นายเจน กล่าวว่า น่าจะส่งผลดีแน่นอน ซึ่งคาดว่าจะมีการทบทวนการลงทุนที่ผ่านมา เพื่อนำไปสู่การขยายการลงทุนเพิ่มเติม สำหรับปัญหาเรื่องสหรัฐฯ ขาดดุลการค้าไทยนั้นคงเป็นเรื่องเล็กน้อยที่สามารถเจรจากันได้ไม่ยาก เพราะส่วนใหญ่เป็นสินค้าที่ผลิตโดยบริษัทของสหรัฐฯ เอง
และกรณีผลกระทบเรื่องค้ามนุษย์ที่สหรัฐฯ ขึ้นบัญชีประเทศไทยไว้ที่ระดับเทียร์ 3 นั้นก็มีสัญญาณที่ดีที่รัฐบาลได้เชิญบุตรสาวประธานาธิบดีสหรัฐฯ มาดูการแก้ปัญหาในประเทศไทย
นายปรีดี ดาวฉาย ประธานสมาคมธนาคารไทย กล่าวว่า ภาวะเศรษฐกิจที่ขยายตัวดีขึ้นแสดงให้เห็นว่ากลไกเริ่มทำงาน หากไม่มีปัจจัยลบที่รุนแรงเข้ามาคาดว่าการส่งออกจะขยายตัวดีขึ้นต่อเนื่อง ส่วนการลงทุนในโครงการเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) น่าจะเป็นกลไกสำคัญที่ต่างชาติจับตามองอยู่ หากกฎหมายฉบับนี้ออกมาบังคับใช้แล้วน่าจะส่งผลดีต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศได้มากขึ้น
สำหรับค่าเงินบาทปลายปีนี้มองว่าน่าจะอยู่ที่ระดับ 34.00 บาท/ดอลลาร์ เนื่องจากหลายปัจจัยหนุน ได้แก่ ภาวะเกินดุลการค้าของไทยในปีนี้ เนื่องจากยังมีความเชื่อมั่นว่าภาวะเศรษฐกิจจะขยายตัวอย่างต่อเนื่อง และการที่สหรัฐฯ มีนโยบายดอลลาร์แข็งค่า ส่งผลให้เงินทุนไหลเข้าประเทศ นอกจากนี้ยังผูกโยงไปถึงเรื่องอัตราดอกเบี้ยที่ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จะปรับขึ้นในช่วงปลายปี แต่คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) คงอัตราดอกเบี้ยไว้ที่ 1.50%