สภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) หรือสภาผู้ส่งออก ปรับเพิ่มคาดการณ์การเติบโตของการส่งออกไทยปี 60 เป็นโตไม่ต่ำกว่า 6% จากก่อนหน้านี้คาดการณ์ทิศทางการส่งออกโต 5% หลังจากการส่งออกในช่วง 8 เดือนขยายตัว 8.9%
อย่างไรก็ตาม สภาผู้ส่งออกฯ ยังประเมินประเด็นที่ต้องติดตามอย่างใกล้ชิด อาทิ พ.ร.บ.กรมศุลกากร พ.ศ.2560 ซึ่งจะมีผลบังคับใช้วันที่ 13 พ.ย.60 อาจส่งผลกระทบต่อการบริหารจัดการวัตถุดิบขาเข้าของภาคการผลิต รวมถึงส่งผลกระทบต่อนักลงทุนไทยที่ออกไปลงทุนในประเทศเพื่อนบ้านเพื่อใช้สิทธิประโยชน์ทางภาษี และต้องการนำสินค้ากลับมารวมกับสินค้าไทยเพื่อส่งออกไปยังลูกค้าปลายทาง
นอกจากนั้น พ.ร.บ.สรรพสามิตอาจจะมีผลกระทบทั้งภาคการนำเข้าและส่งออกในด้านต้นทุนและระยะเวลาในการปรับตัว และร่างพ.ร.บ.การบริหารจัดการน้ำ ที่ยังมีความไม่ชัดเจนในเรื่องการบริหารจัดการน้ำระหว่างเกษตรกรและโรงงานอุตสาหกรรม ซึ่งอาจจะกระทบต่อห่วงโซ่อุปทานภาคการผลิตและการส่งออกเป็นอย่างมาก
ขณะเดียวกันต้องเฝ้าระวังเรื่องการเคลื่อนย้ายสินค้าจากจีนตอนใต้ที่ไหลเข้าสู่ไทย แต่ไม่ได้เข้าสู่ภาคการผลิตในพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ซึ่งอาจจะกระทบต่อการแข่งขันทางการค้ากับผู้ประกอบการไทย
ขณะที่นโยบายส่งเสริมลงทุนภาคเอกชนและนักลงทุนต่างชาติใน EEC ซึ่งเตรียมลงนามในบันทึกความเข้าใจและข้อปฎิบัติที่เกี่ยวข้องรวม 7 ฉบับ เป็นสัญญาณบวกที่ดีต่อภาพรวมเศรษฐกิจไทย
นางสาวกัณญภัค ตันติพิพัฒน์พงศ์ ประธาน สรท.กล่าวว่า การส่งออกของไทยในช่วงที่ผ่านมาได้รับอานิสงส์จากการขยายตัวของเศรษฐกิจโลกและการเติบโตอย่างต่อเนื่องของการส่งออกไปยังประเทศคู่ค้าหลักและคู่ค้าสำคัญ อาทิ สหรัฐอเมริกา จีน ยี่ปุ่น และ กลุ่ม CLMV, การปรับตัวของสินค้าไทยไปสู่ Digitization ต่อความต้องการของตลาด โดยเฉพาะสินค้ากลุ่มเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิคส์เพิ่มมากขึ้น
ขณะที่ทิศทางของราคาสินค้าโภคภัณฑ์ที่ปรับตัวสูงขึ้นกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งเป็นผลต่อเนื่องจากทิศทางราคาน้ำมัน ความต้องการในประเทศ และความต้องการของผู้บริโภคในตลาดต่างประเทศที่เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะประเทศที่ประสบกับภัยพิบัติทางธรรมชาติทำให้ต้องนำเข้าสินค้าโภคภัณฑ์เพิ่มขึ้น
ขณะที่ปัจจัยเสี่ยงของการส่งออก ประกอบด้วย ค่าเงินบาทที่ยังแข็งค่า และยังมีความผันผวนระยะสั้นจากการขยายตัวของภาคการท่องเที่ยวและการขยายตัวของภาคการส่งออกที่ปรับตัวสูงขึ้น, ปัจจัยจากสถานการณ์การเข้ามาเก็งกำไรค่าเงิน และปริมาณเงินลงทุนทางตรง (FDI) ไหลเข้าประเทศปีนี้ค่อนข้างสูง และการที่ไทยเกินดุลบัญชีเดินสะพัดและการเกินดุลการค้าในช่วงที่ผ่านมาอาจจะกระทบทั้งภาคการส่งออกและซัพพลายเชนภาคการผลิตอย่างมีนัยสำคัญ
นอกจากนี้ ยังมีเรื่องของการกีดดันทางการค้าและมาตรการตอบโต้ของประเทศคู่ค้าที่สำคัญ เช่น รัฐบาลสหรัฐฯ อยู่ระหว่างการพิจารณาจะออกประกาศ Safeguard การส่งออกเครื่องซักผ้าจากไทยไปยังสหรัฐฯ, อุปสรรคด้านโลจิสติกส์ อาทิ การขาดแคลนตู้บรรจุสินค้า การยกเลิกเที่ยวเรือบางส่วนในช่วงโกลเด้นวีคของจีน (2-6 ต.ค.) และความพยายามของสายการเดินเรือในการปรับขึ้นค่าระวาง อาจจะกระทบต่อปริมาณและต้นทุนการส่งออกในไตรมาส 4 และสถานการณ์คาบสมุทรเกาหลีภายหลังจากเกาหลีเหนือทดสอบระเบิดไฮโดรเจนในมหาสมุทรแปซิฟิกเพื่อตอบโต้สหรัฐ ขณะที่สหรัฐฯ ประกาศคว่ำบาตรเกาหลีเหนือ พร้อมกดดันให้องค์การสหประชาชาติร่วมมาตรการดังกล่าว