ศูนย์วิจัยกสิกรฯ เตรียมปรับประมาณการเศรษฐกิจไทย คาดใกล้เคียงธปท.หลังส่งออกขยายตัวดี

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday October 4, 2017 11:27 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายเชาว์ เก่งชน กรรมการผู้จัดการ บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย กล่าวว่า ในวันพรุ่งนี้ (5 ต.ค.) ศูนย์วิจัยกสิกรไทยจะมีการปรับคาดการณ์เศรษฐกิจปี 60 ซึ่งมีทิศทางปรับเพิ่มขึ้นหลังจากการส่งออกในช่วง 8 เดือนที่ผ่านมาขยายตัวได้ดี

"ตัวเลขที่จะปรับขึ้นน่าจะใกล้เคียงกับของธนาคารแห่งประเทศไทย" นายเชาว์ กล่าว

ทั้งนี้ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) คาดว่า ในปี 60 การส่งออกของไทยจะขยายตัวที่ระดับ 8.0% และ GDP อยู่ที่ 3.8% ส่วนในปี 61 คาดว่า การส่งออกจะขยายตัวที่ระดับ 3.2% และ GDP อยู่ที่ 3.8%

อย่างไรก็ตาม อัตราการเติบโตของการส่งออกของไทยในช่วง 8 เดือนปี 60 ที่ 8.9% นั้นยังต่ำกว่าหลายประเทศ ได้แก่ เวียดนาม ขยายตัว 19.7%, อินโดนีเซีย ขยายตัว 17.7%, เกาหลีใต้ ขยายตัว 16.4%, ไต้หวัน ขยายตัว 12.9%

นายเชาว์ กล่าวถึงการส่งออกในปี 61 ว่าน่าจะขยายตัวในอัตราชะลอตัวลงอยู่ที่ 3-4% ขณะที่อัตราดอกเบี้ยนโยบายนั้นคาดว่า ธปท.จะตรึงอัตราดอกเบี้ยในระดับต่ำต่อไป

ส่วนความคืบหน้าเกี่ยวกับการจัดทำกฎหมายการเลือกตั้ง กฎหมาย EEC นายเชาว์ กล่าวว่า ส่งผลในทางบวกต่อการลงทุนในปี 61 เมื่อทุกอย่างเข้ารูปเข้ารอยมากขึ้นก็จะช่วยให้การตัดสินใจลงทุนง่ายขึ้น แต่คงต้องดูเรื่องเสถียรภาพการส่งออก เนื่องจากปีนี้ขยายตัวเพิ่มมากขึ้นจากปีก่อนที่มีฐานต่ำ เช่น การส่งออกยางพาราที่โตถึง 50%

ขณะที่ภาพรวมแนวโน้มเศรษฐกิจปี 61 นายเชาว์ คาดว่า ภาวะเศรษฐกิจโลกค่อยๆ ฟื้นตัวดีขึ้นจากการเปิดเผยข้อมูลของสหรัฐฯ สหภาพยุโรป จีน และญี่ปุ่น แต่การคาดการณ์ภาวะเศรษฐกิจในปัจจุบันเป็นเรื่องที่ยากมาก เพราะมีปัจจัยที่มีความผันแปรตลอดเวลา ซึ่งเป็นเรื่องที่ต้องติดตามสถานการณ์ตลอดเวลา สิ่งที่พอจะบอกได้ในเวลานี้คือกรอบการดำเนินนโยบายกว้างๆ เท่านั้น

โดยมีการคาดการณ์ว่าภาวะเศรษฐกิจโลกในปีนี้จะขยายตัว 3% และเพิ่มเป็น 3.5-3.6% ในปี 61 และปัจจัยที่เป็นตัวชี้ว่าเศรษฐกิจโลกเริ่มฟื้นตัว ได้แก่ ภาวะเงินเฟ้อทยอยขยับตัวขึ้นจากการขยายกำลังการผลิต, สถานการณ์ราคาน้ำมันขยับเพิ่มขึ้น 24% จากปีก่อน, ธนาคารกลางชั้นนำของโลกทยอยปรับลดมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (QE) แต่ยังมีประเด็นที่ไม่แน่นอน คือ ความขัดแย้งบนคาบสมุทรเกาหลี, สถานการณ์การเมืองของสหรัฐฯ ที่ยังไม่สามารถผ่านกฎหมายได้เลย ซึ่งต้องรีบดำเนินการให้ผ่านภายในไตรมาสแรกของปี 61 เพื่อเป็นแรงหนุนต่อการเลือกตั้งกลางเทอมของพรรครีพับลิกันในเดือน พ.ย.61 ตลอดจนการเลือกกรรมการและประธานของธนาคารกลางสหรัฐฯ แทนผู้ที่จะหมดวาระลง ซึ่งมีความสำคัญต่อนโยบายการเงินของสหรัฐฯ ในอนาคต

นายเชาว์ คาดว่า ความขัดแย้งบนคาบสมุทรเกาหลีจะไม่เกิดการเผชิญหน้าระหว่างเกาหลีเหนือและสหรัฐฯ เพราะจะเกิดความสูญเสียต่อประชาชนที่อยู่ในพื้นที่ใกล้เคียง ไม่ใช่แค่คาบสมุทรเกาหลี แต่จะลุกลามไปถึงจีนและญี่ปุ่น

"ในทางเศรษฐกิจและสังคมไม่มีแรงจูงใจพอที่จะทำให้เกิดสงคราม" นายเชาว์ กล่าว

ในส่วนธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) มองว่าจะทยอยลดขนาดของงบดุลจำนวน 1 หมื่นล้านดอลลาร์ในเดือน ต.ค.60 และเพิ่มขึ้นไตรมาสละ 1 หมื่นล้านดอลลาร์/เดือน จนถึงระดับ 5 หมื่นล้านดอลลาร์/เดือน ภายในเดือน ต.ค.61 ส่วนเรื่องอัตราดอกเบี้ยนั้นหากเศรษฐกิจสหรัฐฯ ขยายตัวได้ต่อเนื่องก็คาดว่าเฟดจะปรับขึ้นดอกเบี้ยอีก 2 ครั้ง เป็น 1.75-2.00% ภายในปลายปี 61 จาก 1.25-1.50% ในสิ้นปีนี้

ด้านเศรษฐกิจของจีนในช่วงครึ่งปีแรกมีอัตราขยายตัวที่ 6.9% แต่มีแนวโน้มชะลอตัวลงในช่วงครึ่งปีหลัง ขณะที่หนี้ครัวเรือนเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว และหนี้ในระบบเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 300% ของ GDP ส่งผลให้ต้นทุนทางการเงินในประเทศทยอยปรับตัวขึ้นด้วย การก้าวสู่สมัยที่ 2 ของประธานาธิบดี สี จิ้น ผิง คาดว่าจะดำเนินมาตรการปฏิรูปที่ชัดเจนขึ้น โดยเฉพาะเรื่องหนี้และกิจการที่ไม่มีประสิทธิภาพ

ภาวะเศรษฐกิจของญี่ปุ่นจะขยายตัวในอัตราชะลอลงจากการลดขนาดมาตรการกระตุ้นด้านการเงินและการคลัง โดยการขยายตัวของ GDP และเงินเฟ้อยังต่ำกว่าเป้าหมาย 2% ในช่วงการบริหารประเทศของนายกรัฐมนตรี ชินโซ อาเบะ หนี้ของรัฐบาลเพิ่มขึ้นกว่า 5% ของ GDP การดำเนินนโยบายธนู 3 ดอกที่ผ่านมา มีความคืบหน้าเป็นรูปธรรมในธนูดอกที่ 1 และ 2 ส่วนธนูดอกที่ 3 ยังไม่ชัดเจน

"ปัญหาหนี้ของญี่ปุ่นและจีนเป็นประเด็นที่จะส่งผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจในระยะยาว โดยญี่ปุ่นมีหนี้อยู่ที่ 532.3% ของ GDP ส่วนจีนอยู่ที่ 295.5% ของ GDP" นายเชาว์ กล่าว

ภาวะเศรษฐกิจของอังกฤษต้องเผชิญกับกำหนดเวลาที่จะต้องหาข้อยุติเรื่อง Brexit ในการเจรจากับ EU ภายในเดือน มี.ค.62 ซึ่งจะส่งผลทางลบต่อค่าเงินปอนด์และภาวะเศรษฐกิจของอังกฤษ ซึ่งมีโอกาสที่ไม่สามารถบรรลุข้อตกลงได้ค่อนข้างมาก ขณะที่ความแข็งแกร่งทางเศรษฐกิจของประเทศสมาชิก EU มีความแตกต่างกันอย่างมาก


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ