นายวิสุทธิ์ ศรีสุพรรณ รมช.คลัง เปิดเผยว่า ร่าง พ.ร.บ.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างฉบับใหม่ จะเป็นการสร้างฐานการจัดเก็บภาษีจากทรัพย์สินเป็นสำคัญ ซึ่งจะทำให้ผู้เสียภาษีมีส่วนร่วมในการตรวจสอบการทำงานขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) มากขึ้นว่ามีการนำภาษีที่เก็บได้ไปใช้ให้เกิดประโยชน์กับท้องถิ่นหรือไม่ เนื่องจากการจัดเก็บรายได้จากกฎหมายดังกล่าวเป็นหน้าที่ของ อปท. โดยมีการประเมินว่า พ.ร.บ.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง จะทำให้ อปท.สามารถจัดเก็บรายได้ปีละ 2.8 หมื่นล้านบาท หรือคิดเป็น 11-12% ของรายได้ท้องถิ่นทั้งหมด ซึ่งถือว่าไม่มาก เพราะรัฐบาลก็ยังคงให้การอุดหนุนรายได้ให้กับท้องถิ่นอยู่
ขณะนี้ คณะกรรมาธิการสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) อยู่ระหว่างการพิจารณาร่างกฎหมายดังกล่าวในวาระ 2 ซึ่งได้มีการขยายระยะเวลาการพิจารณาออกไปอีก 60 วัน จนถึงสิ้นเดือน พ.ย.นี้ และคาดว่าจะส่งให้ สนช.พิจารณาในวาระ 3 ได้ก่อนสิ้นปีนี้ เพื่อให้กฎหมายมีผลบังคับใช้ได้ภายเดือน ม.ค.62
"การขยายเวลาพิจารณาในวาระ 2 ของสนช. เพราะยังมีรายละเอียดที่ต้องพิจารณาอีกมาก โดยเฉพาะเรื่องภาษีที่ดินเพื่อการพาณิชย์ ซึ่งมีส่วนภาษีสูงถึง 90% ดังนั้นการพิจารณาข้อมูลต่าง ๆ ต้องคิดจากข้อมูลการเสียภาษีจริงในปัจจุบันด้วย เพื่อให้ผู้ประกอบการมีภาระภาษีที่เหมาะสม ส่วนการยกเว้นภาษีสำหรับที่อยู่อาศัยได้ลดลงมาเหลือ 20 ล้านบาท จะทำให้มีผู้เสียภาษีเพิ่มขึ้นไม่เกิน 2% จากเดิมมีข้อเสนอให้เว้นภาษีที่ 50 ล้านบาท ซึ่งจะทำให้มีผู้เสียภาษีเพียง 1% ของ 20 ล้านครัวเรือน" รมช.คลังระบุ