นายจุฬา สุขมานพ ผู้อำนวย สำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.) เปิดเผยว่า กพท.ตั้งเป้าให้สำนักงานบริหารการบินแห่งชาติสหรัฐอเมริกา (Federal Aviation Administration: FAA) ยกระดับการบินของไทยขึ้นเป็น Category1 หลังจากที่ FAA ลดระดับมาที่ Category 2 ซึ่งทำให้สายการบินของไทยไม่สามารถทำการบินในสหรัฐตั้งแต่เดือน ต.ค.58 โดย กทพ.จะเชิญให้ทาง FAA เข้ามา Pre-Audit ภายในสิ้นปีนี้
ทั้งนี้ การดำเนินการดังกล่าวเพื่อให้ บมจ.การบินไทย (THAI) สามารถทำการบินไปยังสหรัฐได้ทันเดือน ต.ค.61 หรือตารางบินฤดูหนาวปีหน้า
ผู้อำนวยการ กพท. กล่าวว่า การแก้ไขมาตรฐานการบินสำหรับ FAA มีอยู่ 40 ข้อ ซึ่งจากที่องค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ(ICAO) ได้ประกาศถอดประเทศไทยออกจากรายชื่อประเทศที่มีความเสี่ยงด้านความปลอดภัยด้านการบินพลเรือน (ปลดธงแดง) ตั้งแต่วันที่ 6 ต.ค.60 เป็นต้นไปนั้นก็ทำให้สามารถแก้ไขข้อบกพร่อง FAA ไปได้ราว 70% แล้ว
ส่วนที่เหลือที่สำคัญจะเป็นการตรวจสอบนักบิน ซึ่ง กพท.เตรียมจะออกประกาศเร็วๆ นี้ เพื่อมอบอำนาจให้นักบินสายการบินเอกชนที่มีคุณสมบัติครบถ้วน เป็นตัวแทน กพท.ในการช่วยตรวจประเมินนักบิน เพราะบุคคลากรของ กพท.ที่จะเข้าไปตรวจสอบมีน้อยเพียง 40 คน ขณะที่นักบินในไทยมีจำนวน 5,000 คน ทั้งนี้ เครื่องบินรุ่นที่มีนักบินมากได้แก่ แอร์บัส 320 และ โบอิ้ง 737 ที่ใช้กับสายการบินต้นทุนต่ำ ซึ่งแผนงานดังกล่าวได้หารือกับ FAA ไว้แล้ว และจะสามารถให้ไทยใช้เวลาแก้ไขได้ภายใน 3 ปี จากเดิมจะใช้เวลา 5 ปี
ส่วนทางองค์การความปลอดภัยด้านการบินแห่งสหภาพยุโรป (EASA) หลังจากไทยถูกขึ้นธงแดง ก็ได้มีการรายงานความคืบหน้าทุก 6 เดือน ซึ่งในรอบต่อไป กพท.เตรียมจะรายงานความคืบหน้าการปลดธงแดงให้กับ EASA ในวันที่ 13-14 พ.ย.นี้ และคาดว่าหลังจากนั้นคงจะไม่ต้องรายงานแล้ว อย่างไรก็ตาม EASA ได้เชิญ กพท.ไปร่วมงานสัมมนาของสหภาพยุโรปในสัปดาห์หน้า เพื่อแบ่งปันประสบการณ์การทำงานแก้ไขข้อบกพร้องด้านมาตรฐานความปลอดภัยการบินของ ICAO ด้วยซึ่งมีสมาชิร่วมสัมนากว่า 20 ประเทศ
สำหรับญี่ปุ่น และเกาหลี นายจุฬา กล่าวว่า ทั้งญี่ปุ่น และเกาหลี เป็นสมาชิก ICAO อยู่แล้วจะได้รับแจ้งเรื่องการปลดธงแดงของไทย และทาง กพท.ก็จะทำหนังสือแจ้งไปให้ทราบอีกครั้ง หลังจากนั้น สายการบินเอกชนก็สามารถขออนุญาตเปิดจุดบินใหม่ หรือเพิ่มความถี่การบินได้ แต่ทั้งนี้ขึ้นอยู่ว่าจะมีตารางบินหรือไม่ หรือมีสิทธิการบินเหลืออยู่หรือไม่
นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คมนาคม กล่าวว่า ทั้งเส้นทางญี่ปุ่น และ เกาหลีมีจำนวนผู้โดยสารมาก แต่เมื่อไทยถูกขึ้นธงแดงก็จำกัดการเพิ่มเที่ยวบิน หรือเพิ่มจุดบิน ต่อจากนี้ก็สามารถเปิดเส้นทางใหม่ได้เพิ่มขึ้น
รมว.คมนาคม กล่าวว่า ไทยสามารถแก้ไขข้อบกพร่องมาตรฐานความปลอดภัยด้านการบินพลเรือน โดยใช้เวลา 2 ปี 4 เดือน นับจากวันที่ 18 มิ.ย.58 ที่ ICAO ได้ประกาศติดธงแดงประเทศไทยบนเว็บไซด์ และได้ปลดธงแดงแล้วในวันที่ 6 ต.ค.60 หลังจากกระทรวงคมนาคม และ กพท.ได้ดำเนินแก้ไขปัญหาดังกล่าวให้เกิดความเชื่อมั่นและเชื่อถือจากกิจการการบินพลเรือนทั่วโลก โดยได้แก้ไขข้อบกพร่อง 33 ข้อดังกล่าว ทบทวนการตรวจประเมินการออกใบรับรองผู้ดำเนินการเดินอากาศใหม่ทั้งหมด 28 สายการบินที่ทำการบินระหว่างประเทศ แก้ไขกฎหมายการเดินอากาศใหม่ และพัฒนาบุคคลากรที่มีความขาดแคลน
"วันนี้ จึงเป็นวันที้น่าภาคภูมิใจสำหรับประเทศโดยส่วนรวม ความไว้วางใจของ ICAO ที่ปลดธงแดงให้กับประเทศไทยในครั้งนี้ ย่อมแสดงถึงความเชื่อมั่นของ ICAO และนานาประเทศที่มีต่ดสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทยที่ได้ทำหน้าที่กำกับมาตรฐานความปลอดภัยด้านการบินและความเหมาะสมของการเดินอากาศได้อย่างมีประสิทธิภาพตามาตรฐานของ ICAO และส่งผลต่อความเชื่อมั่นของสายการบินของไทยจะบินไปที่ไหนในโลกนี้ที่มีข้อตกลงการบินระหว่างกันก็ย่อมทำได้"นายอาคม กล่าว