กรมบัญชีกลางผ่อนคลายเงื่อนไขจัดซื้อยาวงเงินไม่เกิน 5 แสนบ.เพื่อความคล่องตัว-ประโยชน์ของประชาชน

ข่าวเศรษฐกิจ Monday October 9, 2017 15:51 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

น.ส.สุทธิรัตน์ รัตนโชติ อธิบดีกรมบัญชีกลาง เปิดเผยว่า ตามที่ พ.ร.บ.การจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ.2560 ซึ่งมีผลบังคับใช้ไปเมื่อวันที่ 23 ส.ค.60 นั้น ระบบการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ (e-GP) อาจจะมีความไม่ชัดเจนบางประการ เกี่ยวกับรายละเอียด และวิธีปฏิบัติงานต่างๆ เนื่องจากเป็นเรื่องใหม่ที่เจ้าหน้าที่ของหน่วยงานของรัฐทุกภาคส่วนต้องศึกษาทำความเข้าใจเรื่องระบบ e-GP กฎระเบียบที่เกี่ยวข้องกับการจัดซื้อจัดจ้าง เพื่อให้สามารถปฏิบัติงานได้อย่างถูกต้อง โดยที่ผ่านมากรมบัญชีกลางได้เร่งเดินหน้าประชาสัมพันธ์และเผยแพร่เพื่อสร้างความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับวิธีการปฏิบัติตาม พ.ร.บ.การจัดซื้อจัดจ้างฯ ให้กับทุกภาคส่วนอย่างกว้างขวาง

นอกจากนี้ เพื่อรับทราบปัญหาและหาแนวทางแก้ไขเกี่ยวกับ พ.ร.บ.จัดซื้อจัดจ้างฯ กรมบัญชีกลางได้เชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องประชุมร่วมกันมาอย่างต่อเนื่อง อาทิ กรณีการจัดซื้อยา กรมบัญชีกลางได้ประชุมร่วมกับโรงพยาบาลกลุ่มสถาบันแพทย์ศาสตร์แห่งประเทศไทย (UHosNet) กระทรวงสาธารณสุข และหน่วยงานในสังกัดของกระทรวงสาธารณสุข เพื่อกำหนดกรอบแนวทางที่มีประสิทธิภาพและมีความเหมาะสมต่อการจัดซื้อยาของโรงพยาบาลแล้ว

อธิบดีกรมบัญชีกลาง กล่าวว่า สำหรับข้อสรุปในเบื้องต้นเกี่ยวกับการจัดซื้อยาของโรงพยาบาล กรมบัญชีกลางได้ผ่อนคลายให้สามารถดำเนินการจัดซื้อยาที่มีวงเงินไม่เกิน 500,000 บาทต่อครั้งด้วยวิธีเฉพาะเจาะจง ซึ่งสามารถจัดซื้อยาได้ก่อน แล้วค่อยนำผลการจัดซื้อมาบันทึกข้อมูลในระบบ e-GP ในภายหลัง โดยเริ่มใช้เมื่อวันที่ 2 ต.ค.60 ที่ผ่านมา

"การผ่อนคลายกฎระเบียบดังกล่าว เพื่อให้โรงพยาบาลสามารถจัดซื้อยาได้ทันต่อความต้องการใช้งาน และเกิดประโยชน์ต่อประชาชนที่เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล กรมบัญชีกลางจะเร่งพัฒนาระบบ e-GP ให้สามารถใช้งานได้ง่าย สะดวก รวดเร็วมากยิ่งขึ้น เพื่อให้เกิดความคล่องตัวในการปฏิบัติงานของหน่วยงานของรัฐมากที่สุด" น.ส.สุทธิรัตน์กล่าว

ทั้งนี้ พ.ร.บ.การจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ.2560 ถือเป็นการปฏิรูปการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐของไทยให้มีมาตรฐานสากล ป้องกันปัญหาการทุจริตคอรัปชั่น ช่วยเสริมสร้างความเชื่อมั่นให้กับสาธารณชน โดยยึดหลักการ 4 ประการ คือ 1.คุ้มค่า 2.โปร่งใส 3.มีประสิทธิภาพและประสิทธิผล และ 4.ตรวจสอบได้ ที่สำคัญคือเปิดโอกาสให้ภาคประชาชนมีส่วนร่วมในการตรวจสอบและป้องกันการทุจริตการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ