ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองสถานการณ์การบินของไทยในไตรมาสสุดท้ายของปี 60 หลังจาก ICAO ปลดธงแดงหน้าชื่อประเทศไทยจะเติบโตอย่างคึกคักขึ้นจากเดิมที่ได้ทวีบทบาทอย่างน่าจับตามองในระยะที่ผ่านมา และผลดังกล่าวจะต่อเนื่องไปยังปี 61 ให้ธุรกิจการบินของไทยเติบโตอย่างเต็มศักยภาพ โดยคาดว่า ธุรกิจสายการบินของไทยในปี 60 จะมีรายได้ประมาณ 278,900 ล้านบาท และน่าจะแตะ 294,500 ล้านบาทในปี 61 มากกว่ากรณีที่ ICAO ยังคงติดธงแดง คิดเป็นมูลค่า 1,300 และ 8,400 ล้านบาท ตามลำดับ
"การปลดธงแดงหน้าชื่อประเทศไทย ไม่เพียงแต่จะส่งผลบวกต่อธุรกิจสายการบินเท่านั้น แต่ยังจะเป็นส่วนสำคัญต่อภาคอุตสาหกรรมการบินโดยรวมของไทย ซึ่งนับเป็นหัวใจสำคัญในการสร้างเมืองการบินที่จะใช้เป็นแกนหลักเพื่อดึงดูดการลงทุนและนวัตกรรมจากต่างชาติ อันจะปฏิรูปภาคการผลิตไทยไปสู่ยุคดิจิทัลเทคโนโลยี นำมาซึ่งผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจที่ยั่งยืน และมีมูลค่าอีกมหาศาลที่ยากจะประเมินได้" เอกสารเผยแพร่ ระบุ
สถานการณ์ล่าสุด ICAO ได้ปลดธงแดงหน้าชื่อประเทศไทยบนเว็บไซต์ของ ICAO แล้วหลังจากได้ขึ้นธงแดงตั้งแต่เดือนมิ.ย.58 อันส่งผลให้ธุรกิจการบินของไทยต้องเผชิญกับความท้าทายที่หลากหลายตามมา รวมถึงการที่ FAA ปรับลดอันดับมาตรฐานความปลอดภัยด้านการขนส่งทางอากาศเป็นระดับที่ต่ำกว่ามาตรฐาน (Category2) ส่งผลให้ธุรกิจสายการบินของไทยมีค่าเสียโอกาสเกิดที่ขึ้นกว่า 11,300 ล้านบาท ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา
การปลดล็อกธงแดงของ ICAO น่าจะทำให้ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ รวมถึง FAA ยกเลิกการตั้งข้อจำกัดทางการบินที่มีต่อสายการบินของไทย ส่งผลให้สถานการณ์การบินของไทยเติบโตคึกคักยิ่งขึ้น และเป็นแรงขับเคลื่อนความเชื่อมั่นต่อภาพรวมของอุตสาหกรรมการบินของไทย อีกทั้งสนับสนุนการเป็นศูนย์กลางทางการบินภูมิภาคของไทยให้บรรลุเป้าหมาย กระทั่งก่อให้เกิดรากฐานสำคัญในการพัฒนาอู่ตะเภา Aerotropolis ที่รัฐบาลได้ตั้งเป้าให้เป็นกลไกสำคัญในการผลักดัน EEC และเศรษฐกิจของประเทศในระยะข้างหน้า
สำหรับผลกระทบที่มีต่อธุรกิจสายการบินของไทยที่เกิดจากการตั้งข้อจำกัดทางการบินนั้น เริ่มตั้งแต่ ICAO ได้มีคำเตือนเกี่ยวกับมาตรฐานความปลอดภัยทางการบินของไทยให้แก่ภาคีสมาชิกทราบ คือ ตั้งแต่เดือน มี.ค.58 รวมระยะเวลาทั้งสิ้น 2 ปี 7 เดือน คิดเป็นมูลค่าค่าเสียโอกาสของสายการบินของไทยทั้งสิ้นกว่า 11,300 ล้านบาท
หลังจากนี้ คาดว่าภาคีสมาชิกอย่างญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ น่าจะมีการยกเลิกการตั้งข้อจำกัดที่มีต่อสายการบินของไทย ส่งผลให้ไทยสามารถขยายตลาดการบินไปยังประเทศทั้งสองได้ภายในช่วงตารางบินฤดูหนาวปีนี้ (ปลาย ต.ค.60-ปลาย มี.ค.61) เช่นเดียวกับ FAA ที่น่าจะมีท่าทีต่อการปรับอันดับของสายการบินของไทยให้กลับมาอยู่ระดับปกติ หรือ Category1 (ได้มาตรฐานของ ICAO) ในเร็ววันนี้ ยังผลให้สายการบินของไทยสามารถกลับไปบินยังเส้นทางสหรัฐอเมริกา ซึ่งสอดคล้องกับแผนการดำเนินการของสายการบินที่ได้กำหนดไว้ โดยคาดว่าจะสามารถกลับมาบินได้ภายในช่วงตารางบินฤดูร้อนปีหน้า (ปลาย มี.ค.-ปลาย ต.ค.61)
นอกจากนี้ ผลจากการที่ ICAO ปลดธงแดงยังจะเป็นการเรียกความเชื่อมั่นให้กลับมาสู่ธุรกิจสายการบินของไทย และเป็นปัจจัยสนับสนุนสำคัญให้กับนโยบายของภาครัฐซึ่งวางแผนให้อุตสาหกรรมการบินเป็นฟันเฟืองหลักในการผลักดันโครงการ EEC หรือเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก ให้สามารถเกิดขึ้นได้ผ่านโครงการเมืองการบิน หรืออู่ตะเภา Aerotropolis อีกด้วย
โดยโครงการพัฒนาท่าอากาศยานอู่ตะเภา Aerotropolis หรือ เมืองการบิน เป็นโครงการยุทธศาสตร์ที่รัฐบาลคาดหวังให้เป็นกลไกหลักในการพัฒนา EEC ซึ่งถูกตั้งเป้าให้เป็นพื้นที่เศรษฐกิจเพื่อดึงดูดการลงทุนอุตสาหกรรมที่ใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมระดับสูง อันจะเป็นการยกระดับขีดความสามารถของประเทศ หลังจากที่ไทยต้องเผชิญโจทย์การชะลอตัวของเศรษฐกิจในระยะที่ผ่านมา โดยอู่ตะเภา Aerotropolis จะเป็นการใช้จุดเด่นจากการเชื่อมโยงของท่าอากาศยานอู่ตะเภาดึงดูดการลงทุน ที่จะก่อให้เกิดเมืองศูนย์กลางทางเศรษฐกิจโดยมีท่าอากาศยานเป็นแกนหลักให้ธุรกิจและอุตสาหกรรมในรัศมีโดยรอบพึ่งพา โดยความเชื่อมโยงของท่าอากาศยาน นอกจากจะนำมาซึ่งจำนวนเที่ยวบิน นักท่องเที่ยว และสินค้าที่ขนส่งทางอากาศ ที่นำไปสู่การพัฒนาเชิงพาณิชย์แล้ว ยังจะดึงดูดเม็ดเงินการลงทุนขนาดใหญ่จากต่างประเทศในอุตสาหกรรมที่หวังพึ่งพาท่าอากาศยานในการเชื่อมโยงไปยังซัพพลายเออร์และตลาดสำคัญต่างๆ ทั่วโลกได้
การปลดธงแดงหน้าชื่อประเทศไทยของ ICAO จะเป็นแรงขับเคลื่อนความเชื่อมั่นต่อภาพรวมของอุตสาหกรรมการบินของไทย โดย ICAO จะยืนยันถึงการมีการกำกับดูแลที่ดีของรัฐในด้านมาตรฐานทางการบินซึ่งรวมถึงการเดินอากาศ สนามบิน และการบริการภาคพื้นดิน ที่จะสอดรับกับความมุ่งมั่นที่จะเป็นศูนย์กลางทางการบินภูมิภาคของไทย อันจะสะท้อนผลไปยังห่วงโซ่การผลิตของอุตสาหกรรมการบินโดยรวมอย่าง ธุรกิจบริการภาคพื้นดิน ธุรกิจคลังสินค้า อุตสาหกรรมซ่อมบำรุงอากาศยาน (Maintenance, Repair, and Overhaul: MRO) และอุตสาหกรรมผลิตชิ้นส่วนอากาศยานให้ขยายตัวไปในทิศทางเดียวกัน
กระทั่งผลักดันให้อู่ตะเภา Aerotropolis สามารถเกิดขึ้นได้อย่างเป็นรูปธรรม โดยปัจจุบันก็ได้มีกลุ่มทุนขนาดใหญ่ระดับโลกทั้งจากจีน ฝรั่งเศส และสวีเดน ให้ความสนใจเข้ามาลงทุนธุรกิจโลจิสติกส์ ธุรกิจซ่อมบำรุงอากาศยาน และธุรกิจผลิตชิ้นส่วนอากาศยานในพื้นที่บ้างแล้ว นอกจากนี้ ในระยะข้างหน้า อู่ตะเภา Aerotropolis จะช่วยดึงดูดเม็ดเงินลงทุนในอุตสาหกรรมที่ใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมซึ่งส่วนใหญ่พึ่งพาการขนส่งทางอากาศเป็นหลัก อันจะเป็นรากฐานสำคัญในการพัฒนา EEC ต่อไปในอนาคต