น.ส.สุทธิรัตน์ รัตนโชติ อธิบดีกรมบัญชีกลาง เปิดเผยว่า ตามที่นายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย ระบุว่าการดำเนินการตามมาตรการช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อยผ่านบัตรสวัสดิการแห่งรัฐเป็นการสูญเสียงบประมาณในการจัดทำบัตรสวัสดิการ โดยไม่ใช้ร่วมกับบัตรประชาชน เป็นการทำงานที่ไม่คุ้มค่า ไม่ประหยัดการใช้จ่ายของภาครัฐ เพราะรัฐต้องเสียเงินไปกับการจัดซื้อจัดหาบัตรสวัสดิการที่มีราคามากกว่า 35 บาท รวมทั้งอาจขัดมาตรา 62 ของรัฐธรรมนูญ ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 และ พ.ร.ป.ว่าด้วยการตรวจเงินแผ่นดิน พ.ศ. 2542 นั้น
กรมบัญชีกลาง ขอชี้แจงว่าการดำเนินการบัตรสวัสดิการแห่งรัฐมีวัตถุประสงค์เพื่อให้ความช่วยเหลือประชาชนตรงตัวตรงกลุ่มเป้าหมาย ซึ่งช่วยแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายในครัวเรือน และค่าใช้จ่ายในการเดินทาง ถือเป็นการยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนอย่างยั่งยืน และต้องการแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำที่เกิดขึ้นในสังคม ทั้งนี้ คณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้มีมติเห็นชอบในหลักการแนวทางการจัดประชารัฐสวัสดิการ การให้ความช่วยเหลือผ่านบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ เมื่อวันที่ 29 ส.ค.60
แต่โดยที่บัตรประชาชนที่ประชาชนถืออยู่ในปัจจุบัน แม้ว่าจะเป็นแบบเอนกประสงค์ (Smart Card) แต่จัดเก็บเฉพาะข้อมูลบุคคล ข้อมูลสิทธิการรักษาพยาบาลของ สปสช. ข้อมูลหน่วยบัญชาการกำลังสำรอง และข้อมูลทะเบียนเกษตรกร โดยยังไม่มีข้อมูลเกี่ยวกับอาชีพและรายได้ รวมทั้งยังไม่สามารถนำไปใช้ชำระค่าสินค้าและบริการที่เครื่องรูดบัตรได้ (Electronic Data Capture : EDC) ดังนั้น จึงมีความจำเป็นต้องจัดทำบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ เพื่อใช้เป็นสื่อในการรับความช่วยเหลือจากภาครัฐ ซึ่งเป็นราคามาตรฐานทั่วไป
น.ส.สุทธิรัตน์ ยืนยันว่า การดำเนินการเรื่องดังกล่าวกรมบัญชีกลางได้พิจารณาเกี่ยวกับงบประมาณที่ใช้ด้วยความรอบคอบ และใช้เงินงบประมาณที่ได้รับให้เกิดประโยชน์สูงสุดกับประเทศ สอดคล้องกับมติ ครม.และไม่ขัดกับมาตรา 62 ของรัฐธรรมนูญ ตาม พ.ร.ป.ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 และ พ.ร.ป.ว่าด้วยการตรวจเงินแผ่นดิน พ.ศ. 2542 แต่อย่างใด