ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เผยแพร่รายงานการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ระบุว่า การแก้ปัญหาการขยายตัวทางเศรษฐกิจที่ไม่ทั่วถึงในปัจจุบันต้องอาศัยการผสมผสานระหว่างนโยบายเศรษฐกิจมหภาค มาตรการที่ตรงจุดและการปฏิรูปเชิงโครงสร้างควบคู่กันไป โดยนโยบายการเงินมีบทบาทช่วยให้ภาวะการเงินอยู่ในระดับที่ผ่อนคลายเพียงพอให้เศรษฐกิจไทยขยายตัวได้อย่างต่อเนื่องและภาคเอกชนสามารถปรับตัวได้อย่างเหมาะสม
ทั้งนี้ ที่ประชุม กนง.เมื่อวันที่ 27 ก.ย.60 มีมติเป็นเอกฉันท์ให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 1.50% โดยเห็นพ้องถึงความจ่าเป็นในการดำเนินนโยบายการเงินที่ผ่อนปรนต่อไป โดยพร้อมใช้เครื่องมือเชิงนโยบายที่มีอยู่เพื่อสนับสนุนให้เศรษฐกิจขยายตัวได้อย่างต่อเนื่อง ควบคู่กับการรักษาเสถียรภาพการเงินของประเทศ
ในการตัดสินนโยบายครั้งนี้ กรรมการได้อภิปรายถึงปัจจัยส่าคัญที่มีผลต่อการพิจารณาดำเนินนโยบายการเงิน โดยมีข้อสรุปและเหตุผลหลักประกอบการตัดสินใจ ดังนี้
(1) เศรษฐกิจในภาพรวมมีแนวโน้มขยายตัวชัดเจนมากขึ้นโดยแรงขับเคลื่อนหลักยังมาจากปัจจัยด้านต่างประเทศ ขณะที่ยังต้องติดตามความเข้มแข็งของการฟื้นตัวของอุปสงค์ในประเทศ คณะกรรมการฯ เห็นว่าการฟื้นตัวของการค้าโลกที่ชัดเจนมากขึ้นและรายได้ของประเทศคู่ค้าที่ปรับดีขึ้นต่อเนื่องเป็นปัจจัยสำคัญที่จะช่วยสนับสนุนให้การส่งออกสินค้าและการท่องเที่ยวมีแนวโน้มขยายตัวได้ต่อเนื่อง และคาดว่าจะไม่ได้รับผลกระทบอย่างมีนัยจากอัตราแลกเปลี่ยนที่แข็งค่า
นอกจากนี้ การแข็งค่าของเงินบาทในช่วงที่ผ่านมามีทิศทางที่สอดคล้องกับสกุลเงินภูมิภาค อีกทั้งอัตราเงินเฟ้อของไทยอยู่ในระดับต่ำเทียบกับประเทศคู่ค้าคู่แข่ง ส่งผลให้ REER ปรับแข็งค่าขึ้นไม่มากตั้งแต่ต้นปี สำหรับอุปสงค์ในประเทศ การขยายตัวเริ่มกระจายตัวมากขึ้นแต่ยังคงกระจุกตัวอยู่ในธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับภาคการส่งออกและผู้ประกอบการขนาดใหญ่ โดยยังไม่ส่งผ่านผลดีไปสู่รายได้และกำลังซื้อของภาคครัวเรือนเท่าที่ควร โดยเฉพาะสำหรับกลุ่มผู้มีรายได้น้อย ขณะที่ SMEs ยังเผชิญปัญหาด้านความสามารถในการแข่งขัน
(2) อัตราเงินเฟ้อทั่วไปปรับเพิ่มขึ้นช้ากว่าที่ประเมินไว้จากปัจจัยด้านอุปทานเป็นสำคัญ แต่ยังคงมีทิศทางปรับสูงขึ้นอย่างช้า ๆ คณะกรรมการฯ เห็นว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วไปมีแนวโน้มปรับสูงขึ้นในปี 2561 ตามการฟื้นตัวของอุปสงค์ในประเทศและการปรับขึ้นภาษีสรรพสามิต อย่างไรก็ดี อัตราเงินเฟ้ออาจปรับเพิ่มขึ้นค่อนข้างช้าเมื่อเทียบกับในอดีตจากปัจจัยเชิงโครงสร้าง เช่น บทบาทของ modern trade และ e-commerce รวมทั้งการแข่งขันของสินค้าในตลาดโลก ซึ่งคณะกรรมการฯ เห็นควรให้ติดตามนัยต่อพลวัตเงินเฟ้อและการดำเนินนโยบายการเงินอย่างใกล้ชิด
นอกจากนี้ กรรมการบางท่านให้ข้อสังเกตว่าการปรับลดอัตราดอกเบี้ยอาจเพิ่มแรงกดดันเงินเฟ้อด้านอุปสงค์และช่วยให้อัตราเงินเฟ้อทั่วไปกลับเข้าสู่กรอบเป้าหมายเร็วขึ้นได้ไม่มาก เพราะอัตราเงินเฟ้อที่อยู่ในระดับต่ำเป็นผลจากปัจจัยด้านอุปทานและปัจจัยเชิงโครงสร้าง อีกทั้งภาวะการเงินอยู่ในระดับผ่อนปรนมานานต่อเนื่องและไม่ได้เป็นอุปสรรคต่อการลงทุนในมุมมองของผู้ประกอบการ
ประกอบกับครัวเรือนในกลุ่มรายได้ต่ำยังมีภาระหนี้สูงซึ่งอาจเป็นข้อจำกัดในการก่อหนี้เพิ่มเติมแม้ต้นทุนการกู้ยืมจะปรับลดลง นอกจากนี้ อัตราดอกเบี้ยที่ต่ำลงอาจกระตุ้นให้ครัวเรือนกลุ่มรายได้ปานกลางขึ้นไปซึ่งเป็นผู้ออมในเงินฝากส่วนใหญ่ เปลี่ยนพฤติกรรมไปลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยงมากขึ้นเพื่อแสวงผลตอบแทนที่สูงขึ้นแทนที่จะเพิ่มการบริโภคสินค้าและบริการ อีกทั้งอาจกระทบกำลังซื้อและการบริโภคของผู้สูงอายุที่พึ่งพาเงินออมและรายได้จากดอกเบี้ยเงินฝาก
(3) เสถียรภาพระบบการเงินโดยรวมยังอยู่ในเกณฑ์ดี แต่ยังมีความเสี่ยงที่อาจเป็นการสะสมความเปราะบางในระบบการเงินในระยะต่อไปซึ่งต้องติดตามต่อไปอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะพฤติกรรม search for yield ที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นต่อเนื่องในภาวะอัตราดอกเบี้ยต่ำตลอดจนปัญหาเสถียรภาพระบบการเงินที่อาจเกิดขึ้นได้ในจุดที่เกณฑ์การกำกับดูแลยังไม่ครอบคลุม (regulatory gap)
ทั้งนี้ กนง.เห็นว่าการพัฒนากระบวนการติดตามและวิเคราะห์เสถียรภาพระบบการเงินจะมีความจำเป็นอย่างมากต่อการดำเนินนโยบายการเงินภายใต้กรอบเป้าหมายเงินเฟ้อแบบยืดหยุ่น (flexible inflation targeting) ซึ่งจะต้องพิจารณาปัจจัยเสี่ยงทางเศรษฐกิจและการเงินอย่างรอบด้าน โดยระมัดระวังรักษาสมดุลระหว่างการขยายตัวทางเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้อ และเสถียรภาพทางการเงินในภาพรวม