ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB EIC) กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) รายงานแนวโน้มเศรษฐกิจโลก (World Economic Outlook Update) ในเดือน ต.ค.60 ซึ่งมีการปรับเพิ่มคาดการณ์เศรษฐกิจโลกในปี 60 และ 61 ขึ้นเป็น 3.6% และ 3.7% จากคาดการณ์เดิมในเดือน เม.ย.ที่ผ่านมา ที่ระดับ 3.5% และ 3.6% ตามลำดับ เนื่องจากมองการเติบโตระยะสั้นดีขึ้นหลายภูมิภาคโดยเฉพาะในกลุ่มประเทศเกิดใหม่เมื่อเทียบกับคาดการณ์ครั้งก่อนทั้งในเดือนเมษายนและกรกฎาคมที่ผ่านมา ประมาณการเศรษฐกิจในกลุ่มประเทศเศรษฐกิจหลักถูกปรับขึ้น โดยประมาณการล่าสุดสำหรับเขตยูโรโซนเติบโตที่ 2.1% และ 1.9% ในขณะที่ญี่ปุ่นเติบโตที่ 1.5% และ 0.7% ในปี 60 และ 61 ตามลำดับ
พร้อมกันนี้ประเทศเกิดใหม่ในภูมิภาคเอเชีย เช่น จีนจะขยายตัวได้ราว 6.8% และ 6.5% สำหรับอินเดียจะเติบโตราว 6.7% และ 7.4% ในปี 60 และ 61 ตามลำดับ ในภาพรวมกลุ่มประเทศเกิดใหม่และประเทศกำลังพัฒนาจะเติบโตได้เฉลี่ย 4.6% ในปี 60 และ 4.9% ในปี 61 โดยเศรษฐกิจโลกในปี 60 มีการเติบโตจากอุปสงค์ภายในประเทศและตลาดแรงงานที่ฟื้นตัวดีและคาดมีแรงส่งต่อเนื่องในปี 61 อย่างไรก็ดี อัตราเงินเฟ้อในกลุ่มประเทศที่พัฒนาแล้วยังคงอยู่ในระดับต่ำกว่า 2% แม้มีแนวโน้มเร่งตัวขึ้นเล็กน้อยในปีหน้า
อย่างไรก็ตาม IMF ปรับลดคาดการณ์เศรษฐกิจสหรัฐฯ จากความไม่แน่นอนทางการเมือง ขณะที่สหราชอาณาจักรยังเสี่ยงจาก Brexit โดยคาดว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯ จะขยายตัว 2.2% และ 2.3% ในปี 60 และ 61 ตามลำดับ ปัจจัยหลักมาจากความไม่แน่นอนทางการเมืองของสหรัฐฯ ทำให้ IMF คาดว่าจะยังไม่มีแรงกระตุ้นเพิ่มเติมจากนโยบายการปฏิรูปภาษี สำหรับเศรษฐกิจสหราชอาณาจักรได้ปรับลดคาดการณ์ลงตามการเติบโตในช่วงครึ่งปีแรกที่ต่ำกว่าที่คาด จากการบริโภคในประเทศที่เติบโตช้าและค่าเงินปอนด์ที่อ่อนค่า อีกทั้งมองว่าการเติบโตของสหราชอาณาจักรในระยะกลางยังมีความไม่แน่นอนสูงจากผลกระทบของ Brexit ทั้งในด้านอุปสรรคทางการค้า การอพยพแรงงาน และกิจกรรมทางการเงินระหว่างประเทศ
IMF มองเศรษฐกิจโลกระยะยาวเสี่ยงกว่าระยะสั้น ในระยะสั้นความเชื่อมั่นผู้บริโภคและภาคธุรกิจที่ปรับดีขึ้นต่อเนื่องอาจทำให้เศรษฐกิจโลกเติบโตได้สูงกว่าที่คาดแม้จะยังมีความเสี่ยงจากความไม่แน่นอนทางการเมืองของสหรัฐฯ และจาก Brexit ขณะที่ในระยะยาวมีหลายปัจจัยที่อาจทำให้เศรษฐกิจโลกโตช้ากว่าที่คาด ได้แก่ 1) ภาวะการเงินตึงตัวเกินคาดจากการที่อัตราดอกเบี้ยระยะยาวถูกปรับสูงขึ้นตามกลไกตลาด ในขณะที่อัตราเงินเฟ้อทั่วไปยังอยู่ในระดับต่ำ
2) ปัญหาหนี้ในจีนที่ยังคงเพิ่มขึ้นเป็นความเสี่ยงที่อาจทำให้เศรษฐกิจจีนชะลอตัวในระยะต่อไปได้ 3) ภาวะการก่อหนี้และชำระหนี้ในกลุ่มประเทศเกิดใหม่และประเทศที่พึ่งพาการกู้ยืมที่จะมีต้นทุนทางการเงินเพิ่มขึ้นจากอัตราดอกเบี้ยโดยรวมที่สูงขึ้น นอกจากนี้ 4) ความเสี่ยงจากนโยบายการกีดกันทางการค้าและปัญหาทางภูมิรัฐศาสตร์ในคาบสมุทรเกาหลีอาจก่อให้เกิดความตึงเครียดและการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกได้ทุกขณะ
สำหรับประเทศไทย อีไอซีมองว่าเศรษฐกิจไทยจะได้รับประโยชน์จากเศรษฐกิจโลกที่ขยายตัวมากขึ้น โดยเฉพาะด้านการส่งออกและท่องเที่ยว แนวโน้มการขยายตัวทางเศรษฐกิจในหลายๆ ประเทศจะเป็นแรงส่งให้การส่งออกไทยและภาคการท่องเที่ยวขยายตัวต่อเนื่อง นอกจากนี้ความเชื่อมั่นที่เพิ่มสูงขึ้นจะเป็นแรงสนับสนุนให้มีการลงทุนจากต่างประเทศเข้ามาในไทยมากขึ้น
อย่างไรก็ดี อีไอซีมองว่าสำหรับเศรษฐกิจไทย แม้มีพัฒนาการเติบโตทางเศรษฐกิจต่อเนื่องที่ 3.6% ในปี 60 และ 3.5% ในปี 61 แต่ปัจจัยด้านราคาน้ำมันโลกที่มีแนวโน้มไม่กลับไปสูงเช่นได้อดีต และปัญหากำลังซื้อภายในประเทศที่ยังคงอยู่ในระดับต่ำจะทำให้เงินเฟ้อทั่วไปของไทยยังคงอยู่ในระดับต่ำทั้งในปีนี้และปีหน้าที่ราว 0.6% และ 1% ตามลำดับ
ภาวะการเงินโลกที่มีแนวโน้มตึงตัวขึ้นอาจเพิ่มความเสี่ยงต่อตลาดการเงินไทยในด้านเงินทุนเคลื่อนย้ายในระยะต่อไป แนวโน้มการขึ้นดอกเบี้ยนโยบายและการลดขนาดงบดุลของธนาคารกลางสหรัฐฯ รวมทั้งการลดวงเงินการเข้าซื้อสินทรัพย์ของธนาคารกลางในเขตยูโรโซนและญี่ปุ่น จะทำให้เกิดความตึงตัวในตลาดการเงินมากขึ้น หากตลาดการเงินโลกตอบสนองรุนแรงเกินกว่าที่คาดอาจส่งผลให้ความเชื่อมั่นต่อการลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยงลดลงและอาจก่อให้เกิดการไหลย้อนกลับของเงินทุนในกลุ่มประเทศกำลังพัฒนารวมถึงไทยได้
อย่างไรก็ตาม อีไอซีประเมินว่าปัจจัยดังกล่าวเป็นเพียงความเสี่ยงด้านต่ำที่เพิ่มมากขึ้น และจะไม่ส่งผลต่อภาวะตลาดการเงินของไทยมากนักเพราะปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจของไทยยังคงดีต่อเนื่อง ประกอบกับสถานะการเงินระหว่างประเทศของไทยยังคงเข้มแข็งจากการเกินดุลบัญชีเดินสะพัดและมีเงินทุนสำรองระหว่างประเทศในระดับที่สูงเมื่อเปรียบเทียบกับหลายประเทศในภูมิภาคอาเซียนส่งผลต่อนัยค่าเงินบาทที่จะยังคงมีแนวโน้มแข็งค่าในระยะสั้นแต่จะเริ่มทยอยอ่อนค่าได้ถึง 33.5-34.5 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ ได้ ณ สิ้นปี 61 ตามแนวโน้มการลดการผ่อนคลายทางนโยบายการเงินในกลุ่มประเทศหลัก