TMB แนะรัฐเร่งเบิกจ่ายงบ-ออกมาตรการกระตุ้นภูมิภาคแก้ปัญหาศก.กระจุกตัว

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday October 12, 2017 16:13 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ธนาคารทหารไทย (TMB Analytics) ระบุแม้ภาวะเศรษฐกิจปี 61 จะมีทิศทางปรับตัวดีขึ้นกว่าปีนี้จากคาดการณ์ว่าจะขยายตัวได้ 3.8% เพิ่มขึ้นจากปีนี้ที่ขยายตัว 3.5% โดยมีปัจจัยหลักสนับสนุน คึอ การส่งออกซึ่งปรับตัวดีขึ้นจากเศรษฐกิจโลกที่อยู่ในระยะฟื้นตัว แต่การฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยยังกระจุกอยู่ในพื้นที่เศรษฐกิจสำคัญและหัวเมืองหลัก ด้านเศรษฐกิจภูมิภาคยังคงทรงตัว เนื่องจากราคาสินค้าเกษตรสำคัญ คือ ข้าว ยางพารา อ้อย มันสำปะหลัง และปาล์มน้ำมัน มีแนวโน้มทรงตัวต่อเนื่องจากปีนี้

โดยภาพรวมของราคาสินค้าเกษตรสำคัญที่มีมูลค่าผลผลิตกว่า 7.1 แสนล้านบาทต่อปี ถือเป็นรายได้ของเกษตรกรกว่า 12 ล้านคนทั่วประเทศนั้นมีแนวโน้มทรงตัวในปีหน้า จากการคาดการณ์ดัชนีรายได้เกษตรกรปี 61 พบว่าไม่ขยายตัว โดยเกษตรกรพื้นที่ภาคใต้ ภาคตะวันออก และบางจังหวัดในภาคกลาง รวม 21 จังหวัด มีแนวโน้มรายได้ปรับตัวสูงขึ้นเล็กน้อย ขณะที่ 56 จังหวัดในภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีแนวโน้มรายได้ทรงตัว

เกษตรกรนอกจากจะเป็นผู้ผลิตหลักแล้วยังเป็นฐานการบริโภคที่สำคัญที่สุดของเศรษฐกิจภูมิภาคอีกด้วย การที่ราคาสินค้าเกษตรสำคัญมีแนวโน้มทรงตัว นอกจากจะส่งผลกระทบต่อธุรกิจที่เกี่ยวข้องเช่น ธุรกิจปุ๋ย เคมีภัณฑ์ เครื่องจักรกลการเกษตร ที่มีทิศทางไม่สดใสแล้ว การจับจ่ายใช้สอยในระบบเศรษฐกิจภูมิภาคยังอาจชะลอตัวจากความไม่มั่นใจในรายได้ของเกษตกรอีกด้วย โดยกลุ่มสินค้าที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบโดยตรงคือ สินค้าคงทน สินค้าฟุมเฟือย สินค้าที่มีมูลค่าสูง และสามารถเลื่อนเวลาซื้อออกไปได้ เช่น รถยนต์ รถจักรยานยนต์ วัสดุก่อสร้าง เครื่องแต่งกายและเครื่องประดับ เป็นต้น

ดังนั้นเพื่อให้เศรษฐกิจภูมิภาคมีสภาพคล่องและสามารถขยายตัวได้ในระยะที่เกษตรกรอาจไม่สามารถใช้จ่ายได้เพิ่มขึ้น ภาครัฐอาจต้องเร่งการเบิกจ่ายงบประมาณมากขึ้น หรือเพิ่มมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจภูมิภาค นอกเหนือจากมาตรการสนับสนุนการเกษตร ชะลอการขายผลผลิต ไม่แทรกแซงราคาตลาด และปรับโครงสร้างการเกษตรในระยะยาว ในส่วนเกษตรกรก็จำเป็นต้องปรับตัวในการผลิต เพื่อให้มีโอกาสสร้างรายได้และไม่พึ่งพาผลผลิตอย่างใดอย่างหนึ่งมากเกินไป

ศูนย์วิเคราะห์ฯ ประเมินว่า ราคาเฉลี่ยข้าวเปลือกและยางแผ่นดิบที่เกษตรกรจะขายได้ในปี 61 อยู่ที่ 7,700 บาทต่อตัน และ 66 บาทต่อกิโลกรัม หรือเพิ่มขึ้น 2% และ 1.5% ตามลำดับ แม้จะได้รับผลดีจากสต็อคข้าวและยางของรัฐบาลที่ไม่มีตกค้าง และไม่ประสบภัยธรรมชาติเช่นในอดีต ทำให้ปริมาณผลผลิตเพิ่มขึ้นกดดันราคาตลาด ส่วนการส่งออกแม้ปริมาณจะเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง แต่อาจได้รับผลกระทบจากค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับภูมิภาค ซึ่งลดทอนความสามารถในการส่งออกข้าวและยางของไทย

ขณะที่ราคามันสำปะหลังและปาล์มน้ำมันปีหน้า คาดว่ามันสดจะมีราคาเฉลี่ยอยู่ที่ 1.40 บาทต่อกิโลกรัม ใกล้เคียงกับราคาเฉลี่ยปีนี้ เนื่องจากการปริมาณส่งออกไปจีนซึ่งเป็นตลาดสำคัญยังคงลดลงต่อเนื่อง โดย 3 ปีที่ผ่านมาจีนลดการนำเข้ามันสำปะหลังลงเฉลี่ย 20% ต่อปี เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงนโยบายการเกษตรของรัฐบาลจีน ด้านปาล์มน้ำมัน คาดว่าราคาเฉลี่ยปาล์มสดอยู่ที่ 4.70 บาทต่อกิโลกรัม ราคาปรับตัวเพิ่มขึ้น 4.4% เนื่องจากผลผลิตปาล์มสดออกสู่ตลาดเป็นปกติ ไม่เกิดภาวะภัยแล้ง และสต็อคน้ำมันปาล์มดิบยังคงอยู่ในระดับเพียงพอต่อการใช้ในประเทศ

ส่วนสินค้าเกษตรที่มีแนวโน้มราคาลดลงปีหน้า คือ อ้อย ซึ่งได้รับผลกระทบโดยตรงจากราคาน้ำตาลตลาดโลกที่ปรับตัวลดลง จากต้นปีนี้กว่า 30% ทำให้ราคาอ้อยโรงงานปี 61จะอยู่ที่ 900 บาทต่อตัน จากราคาเฉลี่ย 982 บาทต่อตัน นอกจากนี้อุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายยังคงเผชิญความท้าทายจากการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างการกำกับดูแลและกลไกการกำหนดราคาซึ่งยังอยู่ในระยะเริ่มต้น อาจส่งผลต่อราคารับซื้ออ้อยจากเกษตรกร

ด้านความต้องการเอทานอล ซึ่งผลิตจากอ้อย/มันสำปะหลัง และไบโอดีเซล (บี100) จากปาล์มน้ำมันมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นต่อเนื่องตามปริมาณการใช้น้ำมันเชื้อเพลิงและการเศรษฐกิจที่เริ่มฟื้นตัวอย่างชัดเจน อีกทั้งราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกมีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้นจากเศรษฐกิจโลกที่ฟื้นตัว ซึ่งศูนย์วิเคราะห์ฯ คาดว่าปี 61 ราคาน้ำมันดิบเบรนท์เฉลี่ยอยู่ที่ 53 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรล เพิ่มขึ้น 4% จากราคาเฉลี่ยปีนี้ จะสนับสนุนราคาอ้อย มันสำปะหลังและปาล์มน้ำมันได้อีกทางหนึ่ง


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ