ภาวะตลาดเงินบาท: ปิดที่ 33.12 แข็งค่าเล็กน้อยจากแรงขายดอลล์ก่อนหยุดยาว คาดสัปดาห์หน้า 33.10-33.30

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday October 12, 2017 17:24 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นักบริหารเงินจากธนาคารกรุงเทพ เปิดเผยว่า เงินบาทปิดตลาดเย็นนี้อยู่ที่ระดับ 33.12 บาท/ดอลลาร์ แข็งค่าเล็ก น้อยจากช่วงเช้าที่เปิดตลาดที่ระดับ 33.15 บาท/ดอลลาร์

เงินบาทแข็งค่าขึ้นเล็กน้อยจากช่วงเช้าจากผลของการขายดอลลาร์ เนื่องจากจะเป็นช่วงวันหยุดยาว แต่โดยรวมแล้ว วันนี้เงินบาทยังเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบแคบๆ เพราะไม่มีปัจจัยสำคัญที่มากดดันหรือสนับสนุนมากนัก คงต้องรอดูการรายงานตัวเลข เศรษฐกิจสำคัญของสหรัฐฯ ในสัปดาห์หน้า

"วันนี้มี flow ขายดอลลาร์ เพราะใกล้ช่วงวันหยุดยาว แต่รวมๆ แล้วระหว่างวันก็ยังแกว่งอยู่ในกรอบแคบ" นักบริหาร
เงิน ระบุ

นักบริหารเงิน คาดว่า สัปดาห์หน้าเงินบาทจะเคลื่อนไหวในกรอบ 33.10-33.30 บาท/ดอลลาร์

  • ปัจจัยสำคัญ
  • เย็นนี้เงินเยนอยู่ที่ระดับ 112.40/43 เยน/ดอลลาร์ จากช่วงเช้าที่ระดับ 112.39 เยน/ดอลลาร์
  • ส่วนเงินยูโรอยู่ที่ระดับ 1.1853/1854 ดอลลาร์/ยูโร จากช่วงเช้าที่ระดับ 1.1868 ดอลลาร์/ยูโร
  • ดัชนี SET ปิดวันนี้ที่ระดับ 1,712.48 จุด ลดลง 1.66 จุด (-0.10%) มูลค่าการซื้อขาย 65,105 ล้านบาท
  • สรุปปริมาณการซื้อขายรายกลุ่ม ต่างชาติซื้อสุทธิ 506.34 ลบ.(SET+MAI)
  • ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ปรับประมาณการอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยใน
ปี 60 เพิ่มเป็น 3.9% จากเดิมคาดไว้ที่ 3.6% หลังเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าขยายตัวได้สูงกว่าที่เคยคาดไว้ ประกอบกับการส่งออก
และการท่องเที่ยวขยายตัวได้ดีต่อเนื่อง ซึ่งในส่วนของการท่องเที่ยวจะได้รับผลดีหลังจากที่ ICAO ปลดล็อกธงแดง หรือถอดประเทศ
ไทยออกจากรายชื่อประเทศที่มีความเสี่ยงด้านความปลอดภัยการบินพลเรือน

พร้อมปรับเป้าหมายการส่งออกปีนี้เป็นขยายตัว 7.5% นอกจากนี้ได้ประมาณการอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยปี 61 ไว้ที่ 4.2% โดยยังเชื่อว่าการส่งออกและการท่องเที่ยวจะยังเป็นปัจจัยหลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยปีหน้า

  • มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เผยผลสำรวจหนี้ครัวเรือนไทยปี 60 พบว่าแต่ละครัวเรือนมีหนี้สินเฉลี่ยครัวเรือนละ
2.99 แสนบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อนเล็กน้อยที่ 0.4% แยกเป็นหนี้ในระบบ 74.6% และหนี้นอกระบบ 26.4% นอกจากนี้จากการสำรวจ
ถึงความต้องการกู้เงินในระยะ 1 ปีจากนี้ พบว่าประชาชนส่วนใหญ่ 70.7% ตอบว่าไม่มีความต้องการกู้เงิน มีเพียง 29.3% ที่ยังมี
ความต้องการกู้เงิน ซึ่งผู้ที่ตอบว่ายังมีความต้องการกู้เงินนั้น ส่วนใหญ่ 91.4% ตอบว่าจะกู้เงินจากแหล่งเงินกู้ในระบบ ที่เหลือส่วน
น้อยเพียง 8.6% ตอบว่าจะกู้เงินจากแหล่งเงินกู้นอกระบบ ซึ่งถือว่าเป็นตัวเลขที่ต่ำสุดในรอบ 10 ปี
  • ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ธนาคารทหารไทย (TMB Analytics) ระบุแม้ภาวะเศรษฐกิจปี 61 จะมีทิศทางปรับตัวดี
ขึ้นกว่าปีนี้จากคาดการณ์ว่าจะขยายตัวได้ 3.8% เพิ่มขึ้นจากปีนี้ที่ขยายตัว 3.5% โดยมีปัจจัยหลักสนับสนุน คึอ การส่งออกซึ่งปรับตัวดี
ขึ้นจากเศรษฐกิจโลกที่อยู่ในระยะฟื้นตัว แต่การฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยยังกระจุกอยู่ในพื้นที่เศรษฐกิจสำคัญและหัวเมืองหลัก ด้าน
เศรษฐกิจภูมิภาคยังคงทรงตัว เนื่องจากราคาสินค้าเกษตรสำคัญยังทรงตัว

ดังนั้นเพื่อให้เศรษฐกิจภูมิภาคมีสภาพคล่องและสามารถขยายตัวได้ในระยะที่เกษตรกรอาจไม่สามารถใช้จ่ายได้เพิ่มขึ้น ภาครัฐอาจต้องเร่งการเบิกจ่ายงบประมาณมากขึ้นหรือเพิ่มมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจภูมิภาค นอกเหนือจากมาตรการสนับสนุนการ เกษตร ชะลอการขายผลผลิต ไม่แทรกแซงราคาตลาด และปรับโครงสร้างการเกษตรในระยะยาว

  • กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF)เปิดเผยในรายงานเสถียรภาพทางการเงินโลกว่า ระบบการเงินทั่วโลกยัง
คงแข็งแกร่งขึ้นด้วยการสนับสนุนจากนโยบายเชิงรุก, การปรับปรุงด้านกฎระเบียบ และการฟื้นตัวของวัฏจักรการเติบโตทาง
เศรษฐกิจ แต่การใช้นโยบายผ่อนคลายทางการเงินในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ส่งผลให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจและการเงินขยายตัวอย่าง
รวดเร็ว อีกทั้งยังทำให้มีการประเมินมูลค่าสินทรัพย์เพิ่มขึ้น ขณะเดียวกันก็ทำให้หนี้สินปรับตัวขึ้นด้วย นอกจากนี้ความเสี่ยงต่างๆ เช่น
การเพิ่มขึ้นของเงินเฟ้อ และปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอย่างรวดเร็ว อาจส่งผลให้เกิดความวุ่นวายในตลาด ซึ่งจะทำให้นักลงทุนต้องเผชิญ
กับความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้น
  • ธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) เปิดเผยว่าดัชนีราคาผู้ผลิต (PPI) ในเดือนก.ย.ปรับตัวขึ้น 3% เมื่อเทียบเป็นรายปี ซึ่ง
เป็นการขยายตัวในอัตราที่รวดเร็วที่สุดในรอบ 9 ปี นับตั้งแต่เดือนธ.ค.51 หลังจากราคาน้ำมันปรับตัวสูงขึ้น ซึ่งดัชนี PPI ที่เคลื่อน
ไหวในทิศทางขาขึ้นนั้นอาจทำให้ดัชนีราคาผู้บริโภคปรับตัวขึ้น หากภาคธุรกิจตัดสินใจผลักภาระต้นทุนให้กับผู้บริโภค ซึ่งจะช่วยให้ BOJ
สามารถบรรลุเป้าหมายในการผลักดันเงินเฟ้อขึ้นสู่ระดับ 2%
  • สถาบันวิจัยเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติของอังกฤษ (NIESR) คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจอังกฤษในไตรมาส 3 ปีนี้จะ
ขยายตัว 0.4% เพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากไตรมาส 2 ที่ขยายตัว 0.3% ซึ่งการคาดการณ์ดังกล่าวจะช่วยหนุนข้อคิดเห็นที่ว่าธนาคารกลาง
อังกฤษ (BoE) ควรปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายจากปัจจุบันที่อัตราดอกเบี้ยนโยบายแตะระดับต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 0.25%
  • นักลงทุนจับตาดูการรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญในช่วงที่เหลือของสัปดาห์นี้ เช่น จำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงาน

รายสัปดาห์ของสหรัฐ, ความเชื่อมั่นผู้บริโภคเบื้องต้นเดือนต.ค.ของสหรัฐ และยอดนำเข้า-ส่งออก-ดุลการค้าเดือน ก.ย.ของจีน

และการผลิตภาคอุตสาหกรรมเดือนส.ค.ของสหภาพยุโรป เป็นต้น


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ