พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รมว.เกษตรและสหกรณ์ ลงพื้นที่ติดตามการปฏิบัติงานระบบตรวจสอบย้อนกลับสินค้าสัตว์น้ำ ก่อนคณะกรรมาธิการยุโรปด้านประมงและทะเล (DG MARE) ของสหภาพยุโรป (EU) จะเดินทางมาตรวจประเมินในช่วงต้นเดือนพ.ย.นี้ เพื่อสร้างความมั่นใจให้อุตสาหกรรมประมงไทยปราศจากการทำประมง IUU ทั้งระบบ โดยได้เดินทางไปยังสะพานปลาสมุทรสาครเพื่อรับฟังบรรยายสรุปการควบคุมระบบตรวจสอบย้อนกลับสัตว์น้ำจากเรือประมงไทย พร้อมตรวจการปฏิบัติงานการควบคุมการเข้า-ออกของเรือประมง จากนั้นได้เดินทางตรวจการปฏิบัติงานการขนถ่ายสัตว์น้ำที่ท่าเทียบเรือประมงพรพีรพัฒน์ จ.สมุทรสาคร ก่อนรับฟังบรรยายสรุปและตรวจการปฏิบัติงาน ณ โรงงานแปรรูปสัตว์น้ำ บ.ไทยยูเนียน จ.สมุทรสาคร
ส่วนช่วงบ่ายได้เดินทางต่อไปยังท่าเรือหมายเลข 23 บริษัท ธนาพรชัย จำกัด อ.พระประแดง จ.สุมทรปราการ เพื่อตรวจการปฏิบัติงานควบคุมเรือประมงต่างชาติภายใต้มาตรการรัฐเจ้าของท่า (PSM) อาทิ การควบคุมก่อนการนำเข้า ข้อมูลเส้นทางการเดินเรือ การตรวจสอบความปลอดภัยของเรือ ลูกเรือ และการตรวจสอบเอกสารที่เกี่ยวข้องตามกฎหมายกรมเจ้าท่า รวมถึงตรวจการควบคุมการขนถ่ายสัตว์น้ำและตรวจการปฏิบัติงานตรวจการขนถ่ายสัตว์น้ำ และการออกเอกสารเพื่อควบคุมการขนถ่ายสัตว์น้ำจากท่าเพื่อไปโรงงานและห้องเย็น
สำหรับ การลงพื้นที่ครั้งนี้ได้สั่งการให้ทุกหน่วยที่เกี่ยวข้องเพิ่มความเข้มงวดในกระบวนการตรวจสอบสินค้าสัตว์น้ำทั้งระบบ ตั้งแต่การตรวจสอบเรือประมงที่แจ้งเข้า-แจ้งออกให้ได้ 100% เพิ่มความเข้มงวดในการตรวจสอบการนำสัตว์น้ำขึ้นท่า ควบคุมการขนถ่ายสัตว์น้ำและลูกเรือกลางทะเล สร้างความตระหนักให้ผู้ประกอบการประมงตลอดสายการผลิตให้ความร่วมมือ และกำชับให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการให้เป็นไปตามระเบียบและกฎหมายที่กำหนดไว้อย่างเข้มงวด และเพิ่มประสิทธิภาพของระบบตรวจสอบย้อนกลับสัตว์น้ำที่จับจากเรือประมงไทย โดยได้มีการนำระบบเครื่องชั่ง Smart scale ที่สามารถส่งข้อมูลชนิดและน้ำหนักที่ชั่งเข้าระบบที่ได้มีการนำร่องใช้กับท่าเทียบเรือขององค์การสะพานปลาที่สงขลาเป็นแห่งแรก และที่สมุทรสาครเป็นแห่งที่สอง ซึ่งจะทำให้ข้อมูลชนิดและน้ำหนักสัตว์น้ำมีความโปร่งใสและสอดคล้องกับข้อเท็จจริงมากขึ้นด้วย
พล.อ.ฉัตรชัย กล่าวว่า ในภาพรวมถือว่าไทยมีการพัฒนาการแก้ไขปัญหาประมง IUU ในหลายๆ ด้านไปค่อนข้างมาก และมีประสิทธิภาพ เพื่อให้อุตสาหกรรมประมงไทยปราศจากการทำประมง IUU ทั้งระบบ โดยเฉพาะการตรวจสอบย้อนกลับสินค้าสัตว์น้ำที่กรมประมงได้มีการปรับปรุงระบบตรวจสอบย้อนกลับของไทย เพื่อไม่ให้มีสัตว์น้ำที่มาจากการทำประมงผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุมเข้ามาในประเทศไทย รวมถึงไม่ให้มีการส่งออกสัตว์น้ำที่มาจากการทำประมงแบบ IUU อย่างเด็ดขาด ทั้งระบบตรวจสอบย้อนกลับสำหรับสัตว์น้ำที่จับโดยเรือประมงไทย และสัตว์น้ำที่นำเข้าจากต่างประเทศ โดยสัตว์น้ำที่จับโดยเรือประมงไทยได้มีการจัดวางระบบตรวจสอบย้อนกลับเพื่อให้ทราบถึงแหล่งที่มาของสินค้าและผลิตภัณฑ์ประมงทะเลได้ตลอดสายการผลิต
โดยกำหนดให้เรือประมงที่จับสัตว์น้ำต้องจดบันทึกการทำการประมงตามความเป็นจริงทุกครั้ง และมีรายละเอียดของชนิดสัตว์น้ำ ปริมาณสัตว์น้ำ บริเวณที่จับ และเครื่องมือการทำประมง เมื่อนำสัตว์น้ำขึ้นที่ท่าเทียบเรือ กำหนดให้ท่าเทียบเรือต้องคัดแยกและชั่งน้ำหนักสัตว์น้ำรายชนิด กรณีขนส่งไปขายที่ตลาดกลางโดยยังไม่มีการคัดแยกและชั่งน้ำหนัก ต้องชั่งน้ำหนักโดยประมาณของสัตว์น้ำที่ขนส่ง และเมื่อถึงตลาดกลางต้องคัดแยกและชั่งน้ำหนักสัตว์น้ำรายชนิด และเมื่อมีการซื้อขายสัตว์น้ำ ผู้ซื้อผู้ขายต้องกรอกข้อมูลชนิดสัตว์น้ำและปริมาณที่ซื้อขายในเอกสารกำกับการซื้อขายสัตว์น้ำ เพื่อให้มีข้อมูลในการตรวจสอบย้อนกลับถึงแหล่งที่มาของสัตว์น้ำได้ทุกขั้นตอนตลอดสายการผลิต
ส่วนสัตว์น้ำที่นำเข้าจากต่างประเทศ ผู้ประกอบการนำเข้าต้องขออนุญาตนำเข้าสัตว์น้ำ โดยด่านตรวจสัตว์น้ำของกรมประมงจะดำเนินการตรวจสอบสัตว์น้ำและเอกสาร เพื่อให้มั่นใจว่าสัตว์น้ำไม่ได้มาจากการทำการประมง IUU โดยทำการตรวจสอบเอกสารที่เกี่ยวข้องต่าง ๆ เช่น ใบรับรองการจับสัตว์น้ำ, ล็อคบุ๊ค ใบอนุญาตทำการประมง ใบอนุญาตขนถ่าย แหล่งทำการประมง พฤติกรรมเรือ เส้นทางเดินเรือ ข้อมูลการทำการประมง และแผนผังการเก็บสัตว์น้ำ เป็นต้น หากข้อมูลถูกต้องจะอนุญาตให้เรือเทียบท่าและขนถ่ายสัตว์น้ำได้
นอกจากนี้ ยังมีการควบคุมการขนถ่ายและชั่งน้ำหนักสัตว์น้ำที่ขนขึ้นรถบรรทุก และจัดทำเอกสารเพื่อกำกับรถบรรทุกทุกคันที่ขนส่งไปยังโรงงาน และบันทึกข้อมูลลงในระบบคอมพิวเตอร์ เมื่อสัตว์น้ำไปถึงโรงงานจะมีการคัดแยกและชั่งน้ำหนักสัตว์น้ำรายชนิด และออกหนังสือกำกับการจำหน่ายสัตว์น้ำนำเข้าให้กับผู้นำเข้าสัตว์น้ำ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของระบบตรวจสอบย้อนกลับ กรมประมงได้มีการระบบอิเล็กทรอนิกส์ใน 2 รูปแบบ ได้แก่ 1.ระบบตรวจสอบย้อนกลับสัตว์น้ำที่จับจากเรือประมงไทย และ 2.ระบบตรวจสอบย้อนกลับสัตว์น้ำนำเข้า เพื่อให้สามารถตามสอบเส้นทางไหลของสัตว์น้ำ ได้อย่างมีประสิทธิภาพตลอดสายการผลิต ตั้งแต่การนำเข้าสัตว์น้ำ การขึ้นท่าสัตว์น้ำ การกระจายสัตว์น้ำ การแปรรูป การออกใบรับรองการจับสัตว์น้ำ การออกใบรับรองการแปรรูปสัตว์น้ำ ตลอดจนถึงกระบวนการสุดท้าย คือ การส่งออกผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำนั่นเอง