นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เปิดเผยว่า ที่ประชุมบอร์ด กสทช.เห็นชอบแนวทางช่วยเหลือผู้ประกอบการทีวีดิจิทัลด้วยการลดค่าธรรมเนียมใบอนุญาต โดยกำหนดแนวทางยกร่างประกาศฯ เพื่อนำไปรับฟังความคิดเห็นภายใน 45 วัน ก่อนจะนำเข้าสู่ที่ประชุม กสทช.และประกาศใช้ต่อไปในช่วงปลายปีนี้
สำหรับอัตราที่ กสทช.ได้พิจารณาเบื้องต้นดังนี้ ผู้ประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ที่มีรายได้ 0-100 ล้านบาท จัดเก็บร้อยละ 0.125, รายได้เกิน 100 ล้านบาท-500 ล้านบาท จัดเก็บร้อยละ 0.25, รายได้เกิน 500 ล้านบาท-1,000 ล้านบาท จัดเก็บร้อยละ 0.5, รายได้เกิน 1,000 ล้านบาท-5,000 ล้านบาท จัดเก็บร้อยละ 0.75 และรายได้เกิน 5,000 ล้านบาทขึ้นไป จัดเก็บร้อยละ 1.5
นายฐากร กล่าวว่า กรณีสมาคมผู้ประกอบการทีวีดิจิทัลยื่นข้อเสนอเรียกร้องต่อรัฐบาลให้ช่วยเหลือผู้ประกอบการที่ประสบปัญหานั้น ทาง กสทช.ยังไม่ได้รับเรื่องดังกล่าว โดยสมาคมผู้ประกอบการทีวีดิจิทัลได้ไปยืนหนังสือถึงนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี และประธานกรรมการคณะกรรมการปฎิรูปสื่อสารมวลชนและเทคโนโลยี
อย่างไรก็ตาม หาก กสทช.ได้รับหนังสือจากทางสมาคมผู้ประกอบการทีวีดิจิทัลก็จะประชุมพิจารณาแนวทางที่เหมาะสม โดยจะนำข้อสรุปไปเสนอให้นายวิษณุพิจารณาเพื่อกำหนดเป็นมาตรการช่วยเหลือต่อไป
"กสทช.เข้าใจระบบธุรกิจที่ต้องการให้ธุรกิจอยู่ได้ แต่ต้องคำนึงด้วยว่าจะทำอย่างไรให้ประเทศชาติอยู่ได้ ส่วนตัวพิจารณาแล้วเห็นว่าการทำตามข้อเรียกร้องนั้นทำได้ยากเพราะเกินอำนาจของ กสทช. สมาคมฯ ก็คงเข้าใจจึงไปยื่นเรื่องกับรัฐบาล อย่างกรณีเงินที่เหลือจากการแจกคูปองก็ต้องกลับมาเป็นเงินแผ่นดินจะเอาไปใช้อย่างอื่นไม่ได้ ผมได้คิดแนวทางอื่นไว้ เช่น อาจจะเอาเงินกองทุนวิจัยและพัฒนากิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม เพื่อประโยชน์สาธารณะ (กทปส.) ไปสนับสนุนก็อาจเป็นได้ แต่ทุกอย่างยังไม่มีข้อสรุป กสทช.ขอดูในรายละเอียดก่อนว่าทำได้ยังไงหรือไม่ อยู่ในอำนาจ กสทช.หรือไม่ ถ้าไม่อยู่ในอำนาจ กสทช.ต้องเสนอผู้มีอำนาจสูงกว่าตัดสินใจอย่างไร"นายฐากร กล่าว
เลขาธิการ กสทช.กล่าวว่า เบื้องต้นได้รวบรวมข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับข้อเรียกร้องแล้วพบว่า กรณีคำขอไม่จ่ายค่าธรรมเนียมใบอนุญาตในส่วนที่เหลืออีกสองงวด กสทช.ได้ประเมินแล้วค่าธรรมเนียมใบอนุญาตที่เหลือ 2 งวด รวมกันประมาณ 16,000 ล้านบาท ขณะที่ผู้ประกอบการได้จ่ายค่าธรรมเนียมไปแล้วทั้ง 4 งวดรวมที่ 34,817.372 ล้านบาท หรือร้อยละ 64 ส่วนที่จะขอให้รัฐรับผิดชอบค่าใช้จ่ายในการใช้บริการโทรข่ายทีวีดิจิทัลภาคพื้นดิน โดยเสนอให้ใช้เงินที่เหลือจากการแจกคูปองแลกซื้อกล่องรับสัญญาณทีวีดิจิทัลมาสนับสนุน ซึ่งมียอดเงินค่าบริการที่ต้องจ่ายรวมกันปีละ 2,500 ล้านบาท