(เพิ่มเติม) SCBT มอง GDP ไทยปี 61 โต 4.3% จากปีนี้ 3.6% หลังส่งออก-ท่องเที่ยวหนุน-การเมืองชัดเจน

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday October 18, 2017 15:01 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ทีมนักเศรษฐศาสตร์ ธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด (ไทย) (SCBT) คาดว่า เศรษฐกิจไทยในปี 61 จะเติบโตได้ในระดับ 4.3% จากปีนี้คาดว่าจะเติบโตราว 3.6% โดยมีปัจจัยหนุนหลักมาจากการส่งออกและท่องเที่ยวที่ขยายตัวได้ดี ขณะที่การเมืองภายในประเทศมีความชัดเจนมากขึ้น

ทั้งนี้ ในด้านการส่งออกในปี 61 คาดว่าจะขยายตัวได้ราว 5% ต่อเนื่องจากปีนี้ที่น่าจะเติบโตได้ถึง 7% หลังจากเงินบาทมีทิศทางแข็งค่าขึ้น โดยคาดว่าค่าเงินบาท ณ สิ้นปี 61 จะแตะระดับ 31.00 บาท/ดอลลาร์ จากระดับ 32.50 บาท/ดอลลาร์ในสิ้นปีนี้

ขณะที่มองว่าในปีหน้าเงินทุนต่างชาติยังไหลเข้าตลาดหุ้นและตลาดตราสารหนี้ของไทยอย่างต่อเนื่อง หลังรัฐบาลประกาศเลือกตั้งชัดเจน และเชื่อว่าการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานของภาครัฐจะมีความต่อเนื่อง โดยคาดว่าจะมีการเบิกจ่ายเม็ดเงินลงทุนราว 2 แสนล้านบาท จากปีนี้ราว 5 หมื่นล้านบาท

นายทิม ลี ฬหะพันธุ์ นักเศรษฐศาสตร์ ประจำ SCBT กล่าวในการนำเสนอผลวิจัยเศรษฐกิจโลก "H2 2017 Globla Research Brifing" ว่า ภาพรวมเศรษฐกิจไทยจะขยายตัวได้ที่ประมาณ 4.3% ในปี 61 จากที่ปีนี้มีการขยายตัวที่ 3.6% โดยได้รับปัจจัยสนับสนุนจากการส่งออกที่มีแนวโน้มเติบโตได้ดี ซึ่งคาดการณ์ว่าจะเติบโตได้ที่ 7% ในปีนี้ และเติบโตที่ 5% ในปี 61 ขณะที่การท่องเที่ยวก็มีการขยายตัวด้วยเช่นกัน และประกอบกับภาครัฐได้แสดงความชัดเจนในเรื่องกรอบระยะเวลาในการเลือกตั้ง จึงส่งผลให้ต่างชาติมีความเชื่อมั่นที่จะเข้ามาลงทุนในตลาดหุ้น ตลาดพันธบัตรในระยะยาวมากขึ้นด้วย

นอกจากนั้น ยังมีปัจจัยบวกจากการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานของภาครัฐที่มีอย่างต่อเนื่อง และการลงทุนในโครงการระเบียงเศรษฐกิจพิเศษตะวันออก (EEC) ที่จะเป็นการดึงเม็ดเงินการลงทุนของภาคเอกชนให้กลับมา หลังจากที่ไม่ได้มีการลงทุนมากว่า 20 ปี อีกทั้งยังมองว่าประเทศไทยเป็นศูนย์กลางของเศรษฐกิจในกลุ่มประเทศ CLMV ซึ่งทำให้เศรษฐกิจของประเทศเติบโตไปได้ในอีก 5 ปีข้างหน้า ในขณะที่นโยบายไทยแลนด์ 4.0 ของทางภาครัฐนั้น เชื่อว่าจะเป็นการยกระดับประเทศให้มีศักยภาพและสามารถเสริมสร้างความแข็งแกร่งให้กับประเทศไทยได้ “ในช่วงเวลาที่ผ่านมาเกิดความชัดเจนในหลายๆ ด้าน โดยเฉพาะความชัดเจนของทางภาครัฐที่จะมีการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน โดยการเบิกจ่ายของภาครัฐที่คาดการณ์ว่าจะมีการเบิกจ่ายถึง 2 แสนล้านบาท จากปีนี้ที่มีการเบิกจ่ายประมาณ 5 หมื่นล้านบาท หรือคิดเป็นเงินลงทุน 5% ของมูลค่าเงินลงทุนทั้งหมด 1.79 ล้านล้านบาท และเชื่อว่าตั้งแต่ปีหน้าเป็นต้นไปจะเริ่มมีความชัดเจนมากขึ้น เนื่องจากโครงการดังกล่าวต้องใช้เวลาในการก่อสร้าง ทำให้นักลงทุนต่างชาติเกิดความสนใจเข้ามาลงทุนในประเทศระยะยาวหรืออาจจะมีการลงทุนระยะเวลานานถึง 10 ปี "นายทิม ลี ฬหะพันธุ์ กล่าว

สำหรับค่าเงินบาทประเมินว่าจะอยู่ที่ 31 บาท/ดอลลาร์ในสิ้นปีหน้า จากที่สิ้นปีนี้ที่ 32.5 บาท/ดอลลาร์ เนื่องจากทิศทางค่าเงินบาทยังคงแข็งค่าอย่างต่อเนื่องจากการที่ไทยมีดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุลต่อเนื่อง คาดว่าจะส่งผลให้คณะกรรมการนโนบายการเงิน (กนง.) จะเริ่มปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ยขึ้นตั้งแต่กลางปี 61 เป็นต้นไป และน่าจะมีการปรับขึ้นดอกเบี้ยอีกประมาณ 2-3 ครั้ง

ในส่วนของปัจจัยเสี่ยงในปีหน้า มองว่าเป็นความกังวลต่อปัญหาหนี้ครัวเรือนที่ยังอยู่ในระดับสูง ความตึงเครียดของปัญหาระหว่างประเทศสหรัฐกับเกาหลีเหนือ

ขณะที่ความร้อนแรงของเศรษฐกิจจีนประเมินว่าอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (GDP) ในปีนี้จะเติบโตราว 6.8% และจะขยายตัวได้ที่ 6.5% ในปีหน้า โดยมองว่าระดับอัตราการเติบโตเฉลี่ยอยู่ที่ 6.3-6.5% ถือว่าเป็นระดับที่เหมาะสมสำหรับจีน

ด้านนายเอ็ดเวิร์ด ลี หัวหน้าทีมวิจัยภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ SCBT กล่าวว่า ภาพรวมเศรษฐกิจโลกกลับมาฟื้นตัวได้อย่างแข็งแกร่งมากขึ้นจากเดิมที่เกิดปัญหาวิกฤติ แต่ยังมีความเสี่ยงจากปัญหาเศรษฐกิจยุโรป และปัญหาทางการเมืองในคาบสมุทรเกาหลี ประกอบกับนโยบายทางการเงินของสหรัฐ โดยเฉพาะมาตรการทางด้านภาษี ซึ่งมองว่าจะต้องใช้เวลาในการปฏิรูป และอาจเป็นสาเหตุให้ปัญหาเงินเฟ้อกลับมาอีกครั้ง

อย่างไรก็ตาม ยังคงต้องติดตามสถานการณ์การเลือกตั้งประธานธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) คนใหม่ โดยเฉพาะนโนบายทางการเงินจะแตกต่างจากปัจจุบันหรือไม่อย่างไร SCBT ประเมินว่าเฟดจะปรับขึ้นดอกเบี้ยประมาณ 2 ครั้งในปีหน้า จากปีนี้ที่คาดการณ์ว่าจะมีการปรับขึ้น 3 ครั้ง โดยคาดว่าจะมีการปรับดอกเบี้ยขึ้นอีกครั้งในเดือน ธ.ค.


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ