นายพีระพล ถาวรสุภเจริญ รองปลัดกระทรวงคมนาคม ในฐานะหัวหน้ากลุ่มภารกิจการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านทางหลวง กล่าวภายหลังประชุมขอใช้พื้นที่เพื่อก่อสร้างโครงการรถไฟฟ้าโครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพู (ช่วงแคราย-มีนบุรี) ระยะทาง ระยะทาง 34.5 กม. และสายสีเหลือง ช่วงลาดพร้าว-สำโรง ระยะทาง 30.4 กม.ว่า ขณะนี้ยังไม่สามารถส่งมอบพื้นที่ก่อสร้างให้กิจการร่วมค้ากลุ่มบริษัท BSR JV เป็นผู้รับสัมปทาน ซึ่งประกอบด้วย บมจ.บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ (BTS) และ บมจ.ผลิตไฟฟ้าราชบุรีโฮลดิ้ง (RATCH) ทำให้ยังไม่สามารถเริ่มต้นตามสัญญาได้ จนกว่าจะส่งมอบพื้นที่ได้ประมาณ 75% ซึ่งจะพยายามเร่งรัดส่งมอบพื้นที่ให้เร็วที่สุด และเปิดให้บริการรถไฟฟ้าทั้ง 2 สายในปี 2564 ตามแผนงานที่กำหนดไว้
สำหรับสายสีเหลือง พบว่ามีปัญหา 4 จุดที่ยังต้องเร่งหาข้อยุติ ได้แก่ 1.สะพานทางแยกบางกะปิ 2.ทางข้ามคลองแสนแสบ บริเวณบางกะปิ 3.อุโมงค์ลอดถนนพัฒนาการ 4.อาคารจอจอดแล้วจร บริเวณใกล้ทางแยกต่างระดับศรีเอี่ยม ซึ่งจะต้องออกแบบก่อสร้างที่ให้ประชาชนเกิดความสะดวก และมีกระทบเรื่องการเวนคืนน้อยที่สุด ส่วนสายสีชมพูนั้นส่วนใหญ่ก่อสร้างบนแนวถนนแจ้งวัฒนะ, ติวานนท์, รามอินทรา และมีปัญหาบริเวณการก่อสร้างสถานีหลักสี่
ด้านนายสุรเชษฐ์ เหล่าพูลสุข ผู้ช่วยผู้ว่าการ การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) กล่าวว่า สำหรับสายสีเหลือง รฟม.ได้ประสานกับ กทม.ในการออกแบบรายละเอียดบริเวณทางแยกบางกะปิ ซึ่งอยู่ระหว่างปรับแบบการทุบสะพานเข้าศูนย์การค้าเดอะมอลล์ ซึ่งสะพานข้ามแยกบางกะปิสะพานเหล็ก ช่วงเลี้ยวจากลาดพร้าวไปศรีนครินทร์ ซึ่งอาจจะมีการรื้อสะพานเดิมบางส่วน และก่อสร้างเพิ่มเติมให้ แต่ทาง กทม. ต้องการให้รื้อสะพานทั้งหมดและก่อสร้างให้ใหม่ ซึ่งกองบัญชาการตำรวจนครบาล (บชน.) ค่อนข้างกังวล เนื่องจากสะพานดังกล่าวมีปริมาณจราจรสูง ดังนั้นจะต้องหารูปแบบที่ส่งผลกระทบต่อประชาชนน้อยที่สุด
ส่วนสีชมพูบนแนวถนนแจ้งวัฒนะ และสถานีหลักสี่ กรมทางหลวง กำลังพิจารณารูปแบบ ซึ่งจะสรุปแบบทั้งหมดยุติภายใน 3 เดือนนับจากเดือน พ.ย.เป็นต้นไป
โดยในระหว่างที่ยังไม่ได้ข้อยุติ รฟม.ได้ประสานการประปานครหลวง (กปน.)และการไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) เพื่อวางแผนในการรื้อย้ายระบบสาธารณูปโภค โดยจะเริ่มดำเนินการรื้อย้ายระบบสาธารณูปโภคในเดือน พ.ย.นี้