นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คมนาคม เป็นประธานในพิธีลงนามความร่วมมือเพื่อดำเนินการเชื่อมต่อระบบตั๋วร่วม ระหว่างการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) บมจ.ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (BTSC) และ บมจ.ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ (BEM) และบันทึกข้อตกลงเข้าดำเนินงานบริหารจัดการและบำรุงรักษาระบบศูนย์บริหารจัดการรายได้กลาง (Central Clearing House: CCH) ระหว่าง รฟม. และสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.)
"เอ็มโอยูนี้จะเป็นขั้นตอนเริ่มต้นในการดำเนินงานระบบตั๋วร่วม โดยเป้าหมายแรกที่จะให้บริการก่อนคือ ระบบรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตเรลลิงก์ และ รถเมล์ ขสมก. ภายในเดือน มิ.ย.61 และช่วงที่ 2 จะให้บริการได้ในระบบรถไฟฟ้า BTS รถไฟฟ้าสีน้ำเงินและสีม่วง ในเดือน ต.ค.61 ซึ่งจะต้องให้เวลาในการปรับปรุงระบบและติดตั้งเครื่องอ่านตามมาตรฐานกลางตั๋วร่วม ซึ่งเบื้องต้น คาดว่าทั้งระบบ BTSC และ BEM จะใช้วงเงินลงทุนประมาณ 300 ล้านบาท" นายอาคม กล่าว
รมว.คมนาคม กล่าวว่า ขณะนี้บัตรสวัสดิการแห่งรัฐนั้นได้มีการใส่ชิพแมงมุมของระบบตั๋วร่วมไปแล้ว ดังนั้นเมื่อรถไฟฟ้าแต่ละสายปรับปรุงซอฟต์แวร์และหัวอ่านเสร็จจะสามารถนำบัตรคนจนไปใช้งานได้ ซึ่งคาดว่าจะมีผู้นำบัตรมาใช้ในระบบตั๋วร่วมประมาณ 1 ล้านใบ
ด้านนายสมบัติ กิจจาลักษณ์ กรรมการผู้จัดการ BEM กล่าวว่า การเลื่อนกำหนดใช้ตั๋วร่วมในสายสีม่วงไปเริ่มพร้อมกับสีน้ำเงิน เนื่องจาก เห็นว่า หากเปิดใช้สีม่วงก่อนไม่ได้เกิดประโยชน์อะไร เพราะระบบสีน้ำเงินยังไม่เสร็จและการเดินทางส่วนใหญ่ผู้โดยสารจะเชื่อมต่อระหว่างสีม่วงและน้ำเงินข้ามไปมา ดังนั้นจะดำเนินการและเปิดใช้ไปพร้อมกันจะเกิดประโยชน์มากกว่า
ขณะที่นายสุรพงษ์ เลาหะอัญญา กรรมการและผู้อำนวยการใหญ่สายปฏิบัติการ BTSC คาดว่า จะใช้เวลาในการปรับปรุง เปลี่ยนตัวอ่านและทดสอบระบบ ซึ่งจะต้องดำเนินการในช่วงปิดเดินรถ เพื่อไม่ให้กระทบต่อผู้โดยสาร จะเร่งรัดให้เสร็จภายใน 1 ปี ทั้งนี้ระบบตั๋วร่วมเป็นการเพิ่มความสะดวกในการเดินทางมากขึ้น