นายพรชัย ฐีระเวช ที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจการเงิน ในฐานะโฆษกสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) เปิดเผยรายงานความคืบหน้าการแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบประจำเดือนกันยายน 2560 ว่า การแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบให้แก่ประชาชนตามนโยบายของรัฐบาลมีความคืบหน้าไปมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเพิ่มโอกาสการเข้าถึงแหล่งเงินทุนของลูกหนี้นอกระบบ ผ่านสินเชื่อรายย่อยระดับจังหวัดภายใต้การกำกับ (สินเชื่อพิโกไฟแนนซ์) และสินเชื่อรายย่อยเพื่อใช้จ่ายฉุกเฉิน
โดยในส่วนของสินเชื่อพิโกไฟแนนซ์ ได้รับความสนใจจากภาคประชาชนเป็นอย่างมาก และมีการกระจายตัวครอบคลุมเกือบทุกจังหวัดทั่วประเทศ นับตั้งแต่เดือนธันวาคม 2559 ซึ่งกระทรวงการคลังเปิดให้ผู้สนใจยื่นคำขออนุญาตประกอบธุรกิจสินเชื่อพิโกไฟแนนซ์ ถึงสิ้นเดือนกันยายน 2560 มีนิติบุคคลยื่นคำขออนุญาต 369 ราย ใน 63 จังหวัด โดยจังหวัดที่มีผู้ยื่นคำขออนุญาตมากที่สุดตามลำดับ ได้แก่ นครราชสีมา 40 ราย กรุงเทพมหานคร 32 ราย และร้อยเอ็ด 27 ราย ทั้งนี้ มีผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบธุรกิจแล้ว 153 ราย ใน 46 จังหวัด ซึ่งในจำนวนนี้ได้เปิดดำเนินการแล้ว 83 ราย ใน 36 จังหวัด และมีผู้ปล่อยสินเชื่อแล้ว 51 ราย ใน 32 จังหวัด
ในด้านการปล่อยสินเชื่อ ผู้ประกอบธุรกิจสามารถปล่อยสินเชื่อได้ภายในเขตจังหวัดให้แก่ผู้มีภูมิลำเนาหรือถิ่นที่อยู่ภายในจังหวัดนั้น ๆ วงเงินรายละไม่เกิน 50,000 บาท คิดดอกเบี้ยในอัตราไม่เกินร้อยละ 36 ต่อปี (Effective Rate) ทั้งนี้ ณ เดือนสิงหาคม 2560 มีสินเชื่ออนุมัติสะสม 1,859 บัญชี เป็นเงิน 58.58 ล้านบาท หรือคิดเป็นวงเงินสินเชื่ออนุมัติเฉลี่ย 31,513.61 บาทต่อบัญชี โดยมีอัตราการขยายตัวเฉลี่ย 97.23% ในช่วง 6 เดือนที่ผ่านมา
การอนุมัติสินเชื่อประกอบด้วย สินเชื่อแบบมีหลักประกัน 1,336 บัญชี เป็นเงิน 42.91 ล้านบาท คิดเป็น 73.25% ของจำนวนสินเชื่อที่อนุมัติ และสินเชื่อแบบไม่มีหลักประกัน 523 บัญชี เป็นเงิน 15.67 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 26.75% ของจำนวนสินเชื่อที่อนุมัติ โดยมียอดสินเชื่อคงค้างรวมทั้งสิ้น 1,733 บัญชี เป็นเงิน 55.12 ล้านบาท อย่างไรก็ดี มีสินเชื่อที่ค้างชำระไม่เกิน 3 เดือน จำนวน 65 บัญชี เป็นเงิน 2.27 ล้านบาท หรือคิดเป็น 4.12% ของสินเชื่อคงค้างรวม ทั้งนี้ ยังไม่มีสถิติสินเชื่อค้างชำระเกินกว่า 3 เดือน (NPL)
ทั้งนี้ ประชาชนที่มีปัญหาหนี้นอกระบบ สามารถพิจารณาสินเชื่อพิโกไฟแนนซ์เป็นแหล่งทุนทางเลือกทดแทนหนี้นอกระบบ โดย สศค.จะเริ่มลงพื้นที่ตรวจสอบและให้คำแนะนำการประกอบธุรกิจของผู้ได้รับอนุญาต ตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2560 เป็นต้นไป เพื่อกำกับดูแลการประกอบธุรกิจให้มีประสิทธิภาพมาตรฐาน และเป็นไปตามหลักเกณฑ์เงื่อนไขของกระทรวงการคลังต่อไป
สำหรับสินเชื่อรายย่อยเพื่อใช้จ่ายฉุกเฉิน ตั้งแต่เดือนมีนาคม 2560 ธนาคารออมสิน และธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ได้อนุมัติสินเชื่อเพื่อใช้จ่ายฉุกเฉินให้เป็นทางเลือกของประชาชนในการเข้าถึงแหล่งเงินทุนในระบบแทนหนี้นอกระบบ รายละไม่เกิน 50,000 บาท คิดอัตราดอกเบี้ย 0.85% ต่อเดือน โดยได้เร่งกระจายความช่วยเหลือด้านสินเชื่อดังกล่าวแก่ประชาชนในทุกพื้นที่ทั่วประเทศ ทั้งนี้ ณ สิ้นเดือนกันยายน 2560 มีการอนุมัติสินเชื่อรวม 150,226 ราย เป็นเงิน 6,791.73 ล้านบาท คิดเป็น 67.92% ของวงเงินโครงการที่ได้รับอนุมัติจากคณะรัฐมนตรีจำนวน 10,000 ล้านบาท สามารถจำแนกเป็นสินเชื่อที่อนุมัติแก่ประชาชนทั่วไป 97,414 ราย เป็นเงิน 4,336.01 ล้านบาท และสินเชื่อที่อนุมัติแก่ผู้มีรายได้น้อยในโครงการลงทะเบียนเพื่อสวัสดิการแห่งรัฐ ปี 2560 จำนวน 52,812 ราย เป็นเงิน 2,455.72 ล้านบาท
นายพรชัย กล่าวว่า การดำเนินการอย่างจริงจังกับเจ้าหนี้นอกระบบที่กระทำผิดกฎหมาย สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ยังคงกวดขันจับกุมผู้ปล่อยเงินกู้นอกระบบและผู้ติดตามทวงถามหนี้โดยวิธีการผิดกฎหมายอย่างต่อเนื่อง โดยผลการดำเนินการสะสมของปีงบประมาณ 2560 ณ สิ้นเดือนสิงหาคม 2560 มีการจับกุมผู้กระทำผิด 1,499 คน