PwC ชี้สรรพากรปรับปรุงกม.ภาษีอุดกำไรธุรกิจหลุดออกตปท.-บุคคลรับตรวจสอบเข้มงวด

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday October 19, 2017 16:04 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายสมบูรณ์ วีระวุฒิวงศ์ หัวหน้าหุ้นส่วนกรรมการอาวุโสและกรรมการบริหารสายงานภาษีและกฎหมาย บริษัท PwC ประเทศไทย กล่าวว่า เมื่อเดือน มิ.ย.ที่ผ่านมา ประเทศไทยได้เข้าร่วมเป็นหนึ่งในสมาชิกในโครงการป้องกันการถูกกัดกร่อนฐานภาษีและการโอนกำไรไปต่างประเทศ (BEPS) ภายใต้กรอบความร่วมมือ (Inclusive Framework) จึงทำให้ไทยมีข้อผูกมัดต้องรับหลักการในแผนปฏิบัติการที่นำเสนอโดยองค์การเพื่อความร่วมมือทางด้านเศรษฐกิจและการพัฒนา (Organisation for Economic Co-operation and Development: OECD) อย่างน้อย 4 หลักการมาใช้บังคับ

ประกอบด้วย การป้องกันการใช้อนุสัญญาภาษีซ้อนในทางที่ไม่ถูกต้อง (The Prevention of Treaty Abuse) การจัดทำรายงานระหว่างประเทศ (Country-by-Country Reporting: CbCR) มาตรการการตอบโต้ (Harmful Tax Practices) และมาตรการปรับปรุงข้อโต้แย้งระหว่างประเทศ (Dispute Resolution) ซึ่งการปรับใช้ Comprehensive BEPS Package ทั้ง 4 แผนปฏิบัติการนี้ เพื่อให้เป็นการสอดคล้องกับมาตรฐานสากล โดยกฎหมายภายในของไทยเองต้องมีการถูกตรวจสอบหรือตรวจทานจากประเทศสมาชิกอื่นก่อนด้วยว่า มีความพร้อมเพียงพอหรือไม่ในการที่จะรับหลักการตามแผนปฏิบัติการทั้ง 4 ของ OECD มาปรับใช้

โดยการเข้าร่วมโครงการดังกล่าวจะนำไปสู่การปรับปรุงกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ซึ่งภายในเดือนเดียวกันนี้กรมสรรพากรได้นำเสนอร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากรเรื่อง มาตรการการป้องกันการกำหนดราคาโอนระหว่างบริษัท หรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่มีความสัมพันธ์กันมาใช้บังคับ โดยสาระสำคัญ คือ กำหนดให้บริษัทข้ามชาติที่มีการทำธุรกรรมกับบริษัทในกลุ่มในเครือจะต้องเตรียมพร้อมในการจัดทำเอกสารกำหนดราคาโอนเพื่อนำส่งกรมสรรพากร ซึ่งจะทำให้ผู้เสียภาษีมีต้นทุนในการดำเนินงานสูงขึ้น โดย PwC คาดว่าร่างกฎหมายฉบับดังกล่าวจะมีผลบังคับใช้ได้ภายในปี 61 โดยร่างกฎหมายฉบับดังกล่าวจะช่วยให้บริษัทจดทะเบียนไทยที่ออกไปลงทุนในต่างประเทศ ไม่ต้องเสียภาษีแบบซ้ำซ้อนเหมือนกับช่วงที่ผ่านมาอีก

“ในช่วงที่ผ่านมาประเทศไทยไม่ได้รับผลกระทบเกี่ยวกับการการจ่ายภาษีซ้ำซ้อน เนื่องจากที่ผ่านมาบริษัทในประเทศไทยมีการลงทุนต่างประเทศไม่มากนัก แต่ตอนนี้บริษัทในประเทศไทยเริ่มมีการออกไปลงทุนมากขึ้นเรื่อยๆ เราจึงเชื่อว่าการแก้ร่างกฎหมายดังกล่าวจะช่วยให้บริษัทที่ไปลงทุนในต่างประเทศได้ประโยชน์อีกมาก"นายสมบูรณ์ กล่าว

ส่วนในปัจจุบันแนวทางการจัดเก็บภาษีทั้งภายในประเทศและต่างประเทศ มีแนวโน้มเปลี่ยนแปลงไปจากอดีตในหลายด้าน เช่น การที่ไทยเข้าร่วมเป็นหนึ่งในสมาชิกโครงการป้องกันการถูกกัดกร่อนฐานภาษีและการโอนกำไรไปต่างประเทศ (Base Erosion and Profit Shifting: BEPS) การประกาศใช้กฎหมายเพิ่มเติมสำคัญ 2 ฉบับที่เกี่ยวข้องกับการนำเข้าและการเสียอากรขาเข้าของสินค้า รวมไปถึงกฎระเบียบและข้อบังคับใหม่ๆของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) และการที่กรมสรรพากรนำระบบการคัดเลือกผู้เสียภาษีเพื่อกำกับและตรวจสอบ (Risk-Based Audit: RBA) มาใช้ในการตรวจสอบภาษี ซึ่งผู้เสียภาษีต้องเตรียมตัวให้พร้อมกับการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวที่อาจจะส่งผลกระทบต่อตัวธุรกิจและผู้เสียภาษีเองได้

“ในปีนี้แนวทางการจัดเก็บภาษีทั้งในและนอกประเทศมีการเปลี่ยนแปลงไปอย่างมากมาย ภาคธุรกิจจำเป็นที่จะต้องทำความเข้าใจเกี่ยวกับข้อกฎหมายและกฎระเบียบใหม่ๆ รวมไปถึงการตรวจสอบที่เข้มงวดและเคร่งครัดขึ้น เพื่อเตรียมความพร้อมในการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงที่อาจส่งผลกระทบต่อการดำเนินธุรกิจ"นายสมบูรณ์ กล่าว

นอกเหนือจากแนวทางการจัดเก็บภาษีที่เปลี่ยนแปลงไปในหลากหลายมิติแล้ว อีกหนึ่งประเด็นสำคัญที่ผู้เสียภาษีต้องเตรียมความพร้อม คือ การตรวจสอบภาษีที่จะเข้มงวดมากขึ้น หลังจากการจัดเก็บภาษีของกรมสรรพากรในช่วง 9 เดือนของปีงบประมาณ 60 ที่ผ่านมา ต่ำกว่าเป้าหมายประมาณ 4.78 หมื่นล้านบาท ทำให้รัฐบาลได้นำระบบการคัดเลือกผู้เสียภาษีเพื่อกำกับและตรวจสอบ (RBA) เพื่อปรับปรุงประสิทธิภาพและการจัดเก็บภาษีของรัฐให้ได้มากยิ่งขึ้น โดยระบบประมวลผลดังกล่าว จะมีหน้าที่ในการวิเคราะห์ข้อมูลทั้งภายในและภายนอกสรรพากรของผู้เสียภาษี ซึ่งผู้เสียภาษีที่ถูกจัดกลุ่มอยู่ภายใต้ปัจจัยเสี่ยง 132 ข้อที่กรมสรรพากรได้กำหนดขึ้น อาจต้องถูกกรมสรรพากรเรียกข้อมูลเพิ่มเติมเพื่อทำการตรวจสอบภาษี

ทั้งนี้ ผู้เสียภาษีจะต้องทำความคุ้นเคยกับกฎหมายใหม่และทำความเข้าใจถึงเงื่อนไขต่างๆที่เกี่ยวข้องตั้งแต่วันนี้ เพราะการที่ผู้เสียภาษีมีการเตรียมความพร้อมล่วงหน้าจะทำให้ผู้เสียภาษีสามารถปรับตัวได้ทันท่วงที เนื่องจากสามารถรู้ทันถึงปัญหา และหาแนวทางแก้ไขที่อาจเกิดขึ้นได้อย่างเหมาะสม ทำให้การบริหารจัดการความเสี่ยงทางภาษีเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ นอกจากนี้ยังเป็นการสร้างความได้เปรียบในการแข่งขัน โดยผู้เสียภาษีจะมีความได้เปรียบคู่แข่งทางธุรกิจที่ขาดความพร้อมหรือปรับตัวไม่ทันเมื่อกฎเกณฑ์ใหม่เริ่มถูกใช้บังคับ


แท็ก สรรพากร   PwC  

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ