พณ.ลุยหาตลาดรองรับผลผลิตสินค้าเกษตรทั้งใน-ตปท.เน้นจัดระบบห่วงโซ่อุปทานตลาดภายในให้เข้มแข็งต่อยอดสู่การส่งออก

ข่าวเศรษฐกิจ Monday October 23, 2017 11:43 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นางอภิรดี ตันตราภรณ์ รมว.พาณิชย์ เปิดเผยว่า ขณะนี้ได้สั่งการให้กรมการค้าภายใน กรมการค้าต่างประเทศ และกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ร่วมกันจัดทำแผนการเชื่อมโยงสินค้าเกษตรที่สำคัญ ได้แก่ ข้าว มันสำปะหลัง ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ และปาล์มน้ำมัน เพื่อรองรับการกระจายผลผลิตสู่ตลาดทั้งในและต่างประเทศ เน้นจัดทำแผนการตลาดสำหรับผลผลิตในแต่ละจังหวัด (Mapping) ตลอดห่วงโซ่อุปทาน และจัดเวทีเจรจาซื้อขายสินค้า(Matching) ระหว่างเกษตรกร กับผู้ผลิต ผู้ค้า ผู้ซื้อทั้งในและต่างประเทศ มั่นใจว่าสามารถหาตลาดรองรับสินค้าเกษตรให้ทันท่วงที โดยเฉพาะช่วงที่ผลิตผลออกสู่ตลาดพร้อมกัน ซึ่งจะส่งผลให้ราคาสินค้ามีเสถียรภาพดียิ่งขึ้น จากการที่สินค้าเกษตรมีความอ่อนไหวง่ายต่อข้อมูลข่าวสาร โดยเฉพาะผลกระทบเชิงจิตวิทยา กระทรวงพาณิชย์จึงได้กำชับให้สำนักงานพาณิชย์จังหวัดทั่วประเทศติดตามสถานการณ์ผลผลิตในระดับพื้นที่อย่างใกล้ชิด และบริหารจัดการการรับซื้อตลอดห่วงโซ่อุปทานให้เกิดความเป็นธรรมแก่ทุกฝ่าย

รมว.พาณิชย์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ที่ผ่านมากระทรวงพาณิชย์ได้เชื่อมโยงตลาดสินค้าข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ระหว่างเกษตรกร – ผู้รวบรวม (หรือผู้ใช้) – โรงงานอาหารสัตว์ ในรูปแบบของ “โมเดลไตรภาคี" โดยเป็นการจับคู่เชื่อมโยงผลผลิตระหว่างผู้ที่เกี่ยวข้องในห่วงโซ่อุปทานข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ภายในพื้นที่ ส่งผลให้เกษตรกรขายผลผลิตได้ในราคาที่สูงขึ้น ขณะที่ผู้รับซื้อก็จะได้วัตถุดิบที่มีคุณภาพในราคาที่ต่ำกว่าท้องตลาดโดยทั่วไป โดยดำเนินการไปแล้วใน 14 จังหวัด อาทิ น่าน นครสวรรค์ ลำพูน กาญจนบุรี และกำแพงเพชร มีปริมาณรับซื้อรวมกันกว่า 151,000 ตัน สำหรับแนวทางบริหารจัดการมันสำปะหลัง กระทรวงพาณิชย์ได้เชื่อมโยงผู้เลี้ยงปศุสัตว์ภายในจังหวัดกับเกษตรกรผู้ปลูกมันสำปะหลังในรูปแบบ ของ“มหาสารคามโมเดล" เพื่อให้เกิดการรวมกลุ่มและสร้างช่องทางการจัดจำหน่าย ลดปัญหาการเอารัดเอาเปรียบ เน้นวัตถุดิบที่มีคุณภาพ ส่งผลให้ต้นทุนการผลิตลดลงและเพิ่มมูลค่าสินค้าเกษตรด้วยอีกทางหนึ่ง ขณะนี้มี 15 จังหวัดได้นำโมเดลนี้ไปดำเนินการแล้ว อาทิ มหาสารคาม นครราชสีมา กำแพงเพชร อุดรธานี และลำพูน ส่งผลให้เกิดปริมาณรับซื้อรวมกันกว่า 253,000 ตัน

ในส่วนของการหาตลาดใหม่สำหรับผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง กระทรวงพาณิชย์ได้มอบหมายให้กรมการค้าต่างประเทศจัดคณะเดินทางไปตุรกี และสามารถบรรลุข้อตกลงซื้อขายมันสำปะหลังอัดเม็ดกับผู้นำเข้าตุรกีได้ถึง 900,000 ตัน มูลค่ากว่า 5,000 ล้านบาท สำหรับการหาตลาดรองรับข้าวที่จะออกในเดือนพฤศจิกายน ศกนี้ กระทรวงพาณิชย์ได้มอบหมายให้กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศเชิญนักธุรกิจจากทั่วโลก มาเจรจาซื้อขายข้าวระหว่างวันที่ 30 ตุลาคม – 2 พฤศจิกายน ณ โรงแรมเซ็นทาราแกรนด์แอทเซ็นทรัลเวิลด์ ซึ่งขณะนี้มีผู้ซื้อจำนวน 169 บริษัท จาก 24 ประเทศได้แจ้งตอบรับมาแล้ว อาทิ จีน ฮ่องกง แคนาดา สหรัฐอเมริกา ยุโรป แอฟริกา ซาอุดิอาระเบีย และอาเซียน นอกจากนั้น กระทรวงพาณิชย์ยังได้ร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเตรียมขยายการเชื่อมโยงตลาดข้าวสีภายใต้แนวทางการตลาดนำการผลิต (Demand Driven) เพื่อเพิ่มปริมาณและขยายตลาดทั้งในและต่างประเทศในระยะยาว ข้าวสีที่ได้รับความนิยมในปัจจุบัน อาทิ ข้าวหอมมะลิแดง ข้าวหอมมะลิดำ (หอมนิล) และข้าวไรซ์เบอรี่ ล้วนมีศักยภาพการส่งออกสูงและเป็นที่ต้องการของตลาดต่างประเทศ โดยจะเชื่อมโยงระหว่างกลุ่มเกษตรกรผู้ปลูกข้าวสี – โรงสีของกลุ่มเกษตร/โรงสีของวิสาหกิจชุมชน – สมาคมผู้ประกอบการข้าวถุงไทย/สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย ซึ่งจะนำร่องในพื้นที่ 3 จังหวัดในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ได้แก่ อุบลราชธานี สุรินทร์ และศรีสะเกษ ก่อนขยายผลไปยังจังหวัดอื่น ทั้งนี้ ได้สั่งการให้สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศของกระทรวงพาณิชย์ในทุกภูมิภาคทั่วโลก เร่งจัดกิจกรรมและประชาสัมพันธ์ภาพลักษณ์และคุณประโยชน์ข้าวสีของไทยซึ่งดำเนินการอยู่แล้วให้เป็นที่รู้จักมากขึ้นโดยเร็วต่อไป " นางอภิรดี กล่าวในตอนท้าย


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ